กรมควบคุมโรค จัดทำแนวทางการดูแลสุขภาพผู้สัมผัสน้ำมันรั่วไหล พร้อมเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

oilloss

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแนวทางการดูแลสุขภาพประชาชนผู้สัมผัสน้ำมันรั่วไหล กรณีเกาะเสม็ด พร้อมดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งการดูแลสุขภาพออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับสัมผัสสูง กลุ่มที่รับสัมผัสปานกลาง และกลุ่มที่รับสัมผัสน้อย

วันนี้ (7 สิงหาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จากปัญหาน้ำมันดิบไหลลงทะเลที่จังหวัดระยอง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จากที่ประชุมวอร์รูมของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดตั้งขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โดยมีผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับบริษัทปตท. เพื่อวางแผนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้เสี่ยงสัมผัสกับสารที่อยู่ในน้ำมันดิบ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในอาหารทะเล และน้ำบริโภค  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำแนวทางการดูแลสุขภาพประชาชนผู้สัมผัสน้ำมันรั่วไหล กรณีเกาะเสม็ด พร้อมเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่รับสัมผัสสูง ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานในการกู้คราบน้ำมันที่มีการรับสัมผัสทั้งการหายใจและผิวหนัง มีชั่วโมงการทำงาน ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละวัน มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง  2.กลุ่มที่รับสัมผัสปานกลาง ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เป็นประจำ ได้รับการสัมผัสทางการหายใจอย่างเดียว เช่น ทีมพนักงานจากปตท. นักข่าว พนักงานรีสอร์ท หน่วยราชการ  และ 3.กลุ่มที่รับสัมผัสน้อย ได้แก่ กลุ่มที่ไปตรวจสอบพื้นที่ ติดตามการดำเนินงาน และไม่ได้อยู่ประจำ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะของทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อตรวจหาสารอนุพันธ์ของเบนซีนหรือสารที-ที มิวโคนิก แอซิด ในปัสสาวะ(t-t muconic acid in urine) หากพบผู้ที่มีผลการตรวจ t-t muconic acid สูงกว่าค่าเฝ้าระวังความปลอดภัยของ ACGIH(กำหนดไว้ที่ 500 g/g creatinine) ก็จะทำการตรวจซ้ำทุก 3 เดือน จนกว่าค่าจะเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสุขภาพอื่นๆ แก่กลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนดไว้

ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โดยทำการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้ที่ทำการเก็บกู้คราบน้ำมันและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อหา t-t muconic acid นั้น จนถึงขณะนี้มีการเก็บตัวอย่างตรวจแล้ว จำนวน 1,594 คน โดยวิเคราะห์ผลการตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลระยอง และศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยจังหวัดระยอง กรมควบคุมโรค ข้อมูลผลการตรวจ ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2556 ยังไม่มีตัวอย่างใดที่มีปริมาณ t-t muconic acid  เกินค่าเฝ้าระวังความปลอดภัย  ส่วนข้อมูลจากหน่วยปฐมพยาบาลเพื่อให้บริการสุขภาพทั้งบนเกาะเสม็ดและบนฝั่ง พบว่ามีผู้ป่วยจนถึงปัจจุบัน จำนวน 552 คน มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และผื่นคัน จำนวน 215 คน อาการอื่นๆ เช่น มีดบาด ปวดเมื่อย เมาเรือ และอื่นๆ จำนวน 337 คน

“ส่วนเรื่องอาหาร ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าอาหารทะเลมีความปลอดภัย สามารถรับประทานได้ตามปกติ เพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่มีผลกระทบต่อสัตว์ในทะเล อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรล้างให้สะอาดก่อนที่จะนำมาประกอบอาหารและต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง อย่านำสัตว์ทะเลที่ตายบริเวณที่เกิดเหตุมาบริโภคเด็ดขาด เพราะอาจจะได้รับอันตรายได้ และเพื่อความมั่นใจเรื่องอาหาร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองจะเก็บตัวอย่างอาหารส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 02 590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย

เรื่องน่าสนใจ