ที่มา: dodeden

จากกรณี ญาติผู้ป่วยร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ว่าหลังนำมารดา อายุ 84 ปี ซึ่งหกล้มกระดูกหัก ไปรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านหัวหมาก และโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ารักษา กว่า 1 แสนบาท ซึ่งญาติได้ชำระเงินไปแล้ว โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่าผู้ป่วยรายนี้เข้าข่ายเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง และให้โรงพยาบาลทำเรื่องตั้งงบเพื่อเบิกจ่ายจากกองทุนฯแทน แต่โรงพยาบาลยังไม่มีการดำเนินการ และทางญาติผู้ป่วยยังไม่ได้รับคืนแต่อย่างใด นั้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องขอชี้แจงประชาชนทุกคนว่า ขณะนี้  นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติทั่วประเทศ

ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อกฎหมายอนุบัญญัติ หรือที่เราเรียกกันว่ากฎหมายลูก 3 ฉบับ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ

ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนย่านหัวหมากนั้น กรม สบส.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบแล้วเพื่อตรวจสอบว่ามีการแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาลและมีการเรียกเก็บเกินอัตราที่โรงพยาบาลได้ประกาศไว้หรือไม่

ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายสถานพยาบาลได้กำหนดไว้ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในฉบับที่ 4 มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ

สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ กองกฎหมาย กรม สบส.ได้เร่งจัดทำให้แล้วเสร็จ ประกอบด้วย 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย การกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินและการระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมการช่วยเหลือเยียวยาและจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น และ 3.ร่างหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรา 36 ตามกฎหมายสถานพยาบาล

ซึ่งกำหนดรายละเอียดให้สอดคล้องกับกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งความคืบหน้าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับเมื่อเสร็จแล้วจะได้เสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาเห็นชอบและเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามใน 2 ฉบับแรก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ส่วนฉบับที่ 3 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโดยเฉพาะ จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า ในกรณีของโรงพยาบาลเอกชนย่านหัวหมากที่ยังไม่คืนเงินค่ารักษาผู้ป่วยวิกฤติให้แก่ญาตินั้น ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่จาก สพรศ.และกองกฎหมาย เข้าตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวว่ามีการเก็บค่ารักษาเป็นไปตามราคาที่แสดงบนป้ายหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

เรื่องน่าสนใจ