ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า   วันนี้ ( 23 พฤษภาคม 2560 ) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่หญิงไทยทั้ง 6 ราย เดินทางไปรับจ้างอุ้มบุญในประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะ

อาจเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯเพราะไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายในการการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และเด็กเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์แทน รวมทั้งมิได้กำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กอย่างชัดเจน ทำให้อาจเกิดการทอดทิ้งเด็กได้ เมื่อพบว่าเด็กมีความพิการ

ต่างจากประเทศไทยที่มีความพร้อมสูงในการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ควบคุม กำกับ ดูแล ทั้งการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ

ซึ่งจะมีการทำข้อตกลงในการตั้งครรภ์แทนระหว่างสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายกับหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

โดยให้สามี ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจ รักษาพยาบาลตามกระบวนการ ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ และเมื่อได้รับความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการรับตั้งครรภ์แทนแก่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯรวมทั้งกำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯไว้อย่างชัดเจน ห้ามมิให้สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนโดยเด็ดขาด จึงมั่นใจได้ว่าทั้งหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ จะได้รับการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด

เมื่อไม่นานมานี้ นายศรายุธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าไม่เคยมีการว่าจ้างผู้ถูกจับกุมให้ขนเสปิร์มไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปใช้ในการอุ้มบุญตามที่ตกเป็นข่าว ณ ห้องประชุมชั้น L ศูนย์ซูพีเรีย  เอ.อาร์.ที อาคารวานิช 2  ถนนเพชรบุรี

ทั้งนี้ เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีฯให้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม กรม สบส.จะประสานขอความร่วมมือเฝ้าระวังป้องกันมิให้มีการใช้เทคโนโลยีฯในทางที่ผิดไปยังกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว และพนักงานสืบสวน พร้อมกำชับให้สถานพยาบาลที่มีการให้บริการเทคโนโลยีฯ 70 แห่งทั่วประเทศไทยให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สำหรับบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 จะแบ่งเป็นวาระแล้วแต่ลักษณะการกระทำผิด

อาทิ หากผู้ใดรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท, เป็นนายหน้า ชี้ช่องทางให้มีการรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, โฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายว่ามีหญิงประสงค์รับตั้งครรภ์ หรือมีบุคคลที่ประสงค์ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และหากประชาชนพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการรับจ้างอุ้มบุญ ซื้อขาย อสุจิ ไข่ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้าให้มีการรับจ้างตั้งครรภ์  สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หมายเลขโทรศัพท์ 02-193-7000 ต่อ 18418 หรือ 18419 กรม สบส. จะดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที

เรื่องน่าสนใจ