ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามข้อมูลรายงานของศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ตรวจพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทั้งไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ทุกวัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดตามฤดูกาลปกติทั่วไป เนื่องจากนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน 

6-16

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ประชาชนทั่วประเทศเดินทางไปถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระบรมมหาราชวัง กทม.จำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559  เป็นต้นไป

ซึ่งสำนักพระราชวังจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายราชสักการะพระบรมศพฯ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง   ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปร่วมเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่จะเกิดการแพร่ระบาด เพราะเชื้อโรคนี้ติดต่อกันง่ายจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยเชื้อจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย  ของผู้ป่วย และสามารถติดผ่านทางมือที่ไปสัมผัสเชื้อหรือติดจากการใช้สิ่งของร่วมกันก็ได้

ในการป้องกันโรคนี้  หากประชาชนที่กำลังมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่  ขอให้งดการเดินทางชั่วคราว  งดออกกำลังกาย และนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

และ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนอื่น  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่  ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ มากๆ  งดดื่มน้ำเย็น  อาการจะค่อยๆดีขึ้น  หากไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์

ส่วนประชาชนที่เดินทางมาแล้วและป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ระหว่างเดินทางไปถวายราชสักการะพระบรมศพฯ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น ไม่ใช้หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือร่วมกับผู้อื่น  ดื่มน้ำธรรมดาทั่วไป   หากมีอาการไข้สูง  ไอ เจ็บหน้าอก  ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสนามที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามหลวงและพื้นที่ใกล้เคียงได้

สำหรับประชาชนทั่วไป  ขอให้ปฏิบัติตัวป้องกันดังนี้  1.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในกรณีที่มือไม่เปรอะเปื้อน 2.ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนตักอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ร่วมกับผู้อื่น

3.ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด 4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 5.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่   

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน

thumbnail_27-10-59

เรื่องน่าสนใจ