ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 7 สิงหาคม 2560) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์ ความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกาว่า สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น  โดยเฉพาะที่จ.สกลนครซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรง ท่วม 13 อำเภอ

ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงและเข้าสู่ระยะการฟื้นฟู  ซึ่งยังต้องติดตามดูแลเฝ้าระวังผลกระทบทางจิตใจและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องในกลุ่มที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตซึ่งมี รายงาน 12 คน  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยจิตเวช ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว และกลุ่มที่มีความเครียดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย  

กรมสุขภาพจิต ได้เตรียมแผนฟื้นฟูในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังน้ำลดโดยมอบหมายให้ โรงพยาบาล ( รพ. ) จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ , รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์

และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จ.อุดรธานี ร่วมปฏิบัติการและสนับสนุนวิชาการให้แก่ทีมช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจหรือทีมเอ็มแค็ทเครือข่าย ( Mental health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT ) ในเขตสุขภาพที่ 8 

ซึ่งมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม  มีประมาณ 14 ทีม 

จุฑามาศ วรรณศิลป์ ผ.อ. ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จ.อุดรธานี 

การดำเนินการในครั้งนี้ จะมีเครื่องมือ 2 ชนิด ได้แก่เครื่องมือประเมินคัดกรองระดับความรุนแรงความเครียด  อาการซึมเศร้า และสัญญานความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย และเครื่องมือเสริมพลังใจและสร้างความเข้มแข็งทางใจ 

เนื่องจากการเผชิญกับวิกฤติ ส่งผลให้ความเข้มแข็งทางจิตใจลดน้อยลง  ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถปรับตัวและหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย   เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในพื้นที่ 8 อำเภอที่วิกฤติที่สุดก่อน

ได้แก่ อ.เมือง กุสุมาลย์ พรรณานิคม วานรนิวาส โพนนาแก้ว พังโคน อากาศอำนวย และอ.สว่างแดนดิน ซึ่งจะมีอสม.ซึ่งคุ้นเคยรู้จักบ้านและชุมชนดีที่สุดร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยจะให้การดูแลรักษารายที่มีปัญหาจนกว่าอาการจะกลับมาสู่สภาวะปกติทุกคน  ส่วนพื้นที่จังหวัดนครพนม จะดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูในระยะต่อไป

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ผลการดูแลสุขภาพจิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จ.สกลนคร  ได้ตรวจประเมินผู้ประสบภัย 765 คน เป็นผู้ใหญ่ 542 คน ที่เหลือเป็นเด็ก ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตจำนวน  468 คน มากที่สุดคือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังประจำตัวจำนวน 343 คน พบว่าร้อยละ 85 มีความเครียดในระดับน้อย 

พบเครียดปานกลางถึงรุนแรงรวม 67 คน ในจำนวนนี้มีอาการซึมเศร้า 10 คน และมีความคิดฆ่าตัวตาย 1 คน  จิตแพทย์ได้ให้การรักษาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง  ในส่วนของผู้สูงอายุพบว่ามีความกังวลอยู่บ้างเพราะเสียดายทรัพย์สิน แต่ปรับตัวยอมรับได้ ไม่พบปัญหานอนไม่หลับ    ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ประสบภัยอื่นๆเช่นที่นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์  เป็นต้น  จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดเช่นกัน

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ในการฟื้นฟูจิตใจที่จังหวัดสกลนคร จะดำเนินการในลักษณะการเคาะประตูบ้าน  โดยได้จัดชุดเยี่ยมผู้ประสบภัย 1,000 ชุด ประกอบด้วยยาสามัญประจำบ้าน

เช่นยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยารักษาโรคผื่นคัน อาหารแห้ง  เอกสารความรู้ต่างๆที่จำเป็น  รวมทั้งวิธีการคลายเครียดง่ายๆด้วยตนเองเช่นการนวดคลายเครียด การฝึกการหายใจเป็นต้น สามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์

“ในการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ง่าย โดยปรับที่ความคิดให้กำลังใจตัวเองเมื่อจิตตก  คือการคิดทางบวกมองโลกในด้านดี  มองเห็นสิ่งที่เหลืออยู่มากกว่าสิ่งที่สูญเสียไปแล้วและอย่าพยายามต่อเติมความคิด

โดยเฉพาะเหตุการณ์ด้านลบด้านไม่ดี เนื่องจากจะเพิ่มความรู้สึกว่าปัญหานั้นยิ่งใหญ่มากมาย  ทั้งนี้ในช่วงหลังน้ำลดนี้ ชุมชนนับว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยฟื้นฟูทรัพย์สินชุมชนและดูแลจิตใจคนในชุมชนด้วย การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจกัน โดยเน้น 3 คำคือ “อึด ฮึด สู้” กล่าวคือ อดทน ไม่ท้อแท้  มองความหวังไปข้างหน้า ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังใจและความหวังทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน  จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง   ก้าวผ่านวิกฤติไปได้อย่างรวดเร็ว” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

อย่างไรก็ดี  ขอความร่วมมือชุมชนและประชาชนทุกคน ช่วยกันเฝ้าระวังผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลังน้ำลด เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย มักจะเกิดในช่วงนี้    โดยในผู้ใหญ่มีสัญญาณอาการเตือนภัย 7 อาการ ดังนี้ 1.มีอาการสับสนแยกตัว 2.คิดหมกมุ่นถึงเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมาอย่างกะทันหันและรุนแรง ควบคุมตัวเองไม่ได้   

3. หลีกหนีสังคมอย่างรุนแรง 4.มีอาการตื่นกลัวจนเกินเหตุ มึนชา เบลอ ไม่รับรู้สังคมรอบตัว  5.ซึมเศร้าอย่างรุนแรง 6. ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่จัดหรือใช้สารเสพติด 7.มีอาการทางจิตเช่นหลงผิด ประสาทหลอน จิตนาการสิ่งต่างๆผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

ส่วนในเด็กขอให้สังเกตสัญญาณอาการเครียดดังต่อไปนี้คือ เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ติดตามพ่อแม่เป็นเงาตามตัว  นอนไม่หลับ ฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน ไม่มีสมาธิ มีพฤติกรรมเปลี่ยนจากเดิมเช่นเกเร ก้าวร้าว มีอาการปวดหัว ปวดท้องแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติ เด็กซึม อยู่คนเดียว ไม่อยากเล่น 

หากพบผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาข้อใดข้อหนึ่งขอให้รีบแจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323  เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

เรื่องน่าสนใจ