ที่มา: Doctor.or.th

โรคเอดส์เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า human immunodeficiency virus หรือแปลความหมายเป็นไทยว่า ไวรัสที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์บกพร่องผิดปกติไม่สมบูรณ์ ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้กว่า 40 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 1 ของประชากรโลก ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1 หมื่นรายต่อปี และเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละประมาณ 5,000 ราย 

ปัจจุบัน โรคเอดส์เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา ส่วนยาที่กินกันนั้นเป็นเพียงแค่ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีเท่านั้น

ยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase และยาที่ยับยั้งเอนไซม์โพรเทส

ตัวอย่างยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ได้แก่ Stavudine (d4T) Didanosine (ddI) Lamivudine (3TC) Abacavir (ABC) Tenofovir (TDF) Nevirapine (NVP) Efavirenz (EFV) เป็นต้น

ตัวอย่างยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีฤทธิ์ต่อเอนไซม์โพรเทส ได้แก่ Lopinavir (LPV) Ritonavir (RTV) Saquinavir (SQV) Indinavir (IDV) เป็นต้น 

Pill box for medication

 

นอกจากยาทั้ง 2 กลุ่มนี้แล้ว ปัจจุบันยังมียาใหม่อีกชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกาะติดของไวรัสที่เยื่อหุ้มเซลล์ของทีลิมโฟไซต์คือ ยา Enfuvirtide ซึ่งมีในรูปแบบของยาฉีด และจะใช้เป็นตัวเลือกสุดท้าย กรณีที่มีการดื้อยาชนิดอื่นๆ แล้วเท่านั้น

เนื่องจากยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมีผลลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลง พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 มากขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น โอกาสที่จะติดเชื้อโรคฉวยโอกาสก็จะลดลง และสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้หายขาด ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เริ่มใช้ยาจึงต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อยับยั้งเชื้อ ควบคุมไม่ให้เชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น และจะต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อให้เกิดผลดี ทั้งยังต้องกินยาตรงเวลาสม่ำเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาการดื้อยาได้ง่าย

ดังนั้น ก่อนเริ่มใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิธีใช้ จำนวนและขนาดของเม็ดยา เวลาที่ใช้ยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ และมีความพร้อมในการปฏิบัติตามการใช้ยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา และสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจะต้องไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้ยาได้ผลดี ประหยัด และปลอดภัยต่อผู้ติดเชื้อ ดังนี้
1. การเริ่มใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

2. ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ต้องมีค่าระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 หรือเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการอื่นๆ ผิดปกติ อันใดอันหนึ่งของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

3. ผู้ใช้ยาควรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้อย่างชัดเจน และมีความพร้อมปฏิบัติตามการใช้ยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

4. ต้องใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกัน ตามคำแนะนำของแพทย์

5. ผู้ใช้ยาควรมีความรู้ถึงผลดีของการรักษา และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อเฝ้าระวัง สังเกต และดูแลตนเองขณะใช้ยา หรือไปพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น

จากการศึกษาพบว่า ถ้าผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ไม่ตรงตามเวลาตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไป ก็อาจทำให้เกิดการดื้อยาขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา เพื่อคงประสิทธิภาพที่ดีของยาต่อไป ไม่เกิดการดื้อยา

อาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูง ผื่นลมพิษ เยื่อบุตาอักเสบ เยื่อบุปากอักเสบ หายใจขัดหรือหอบ เป็นต้น ซึ่งยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีที่พบอาการข้างเคียงได้บ่อยที่สุดคือ เนวิราพิน (Nevirapine, NVP) ซึ่งแก้ไขด้วยการเริ่มใช้ยาชนิดนี้ขนาดครึ่งหนึ่งของขนาดปกติเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่เกิดปัญหาใดๆ ก็จะเพิ่มขนาดของยาให้เป็นขนาดปกติ

นอกจากนี้ อาจพบอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด นอนไม่หลับ ฝันร้าย เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเป็นในช่วงแรกของการใช้ยา และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2 เดือน

แต่ถ้ามีอาการซีด ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ชาปลายมือปลายเท้า นิ่วในไต น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันกระจายตัวผิดปกติ (ลงพุง ไขมันพอกที่ต้นคอ หน้าอก แต่หน้าตอบและแขนขาลีบ) โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่เริ่มยาต้านฯ เมื่อ CD4 ต่ำมาก ก็ควรกลับไปปรึกษาแพทย์

เรื่องน่าสนใจ