ที่มา: sanook

ภาพตำหนักที่ตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งนี้คือ “วังวินด์เซอร์ หรือ วังปทุมวัน” หรือจะเรียกอีกชื่อว่า “วังกลางทุ่ง” ก็ได้ วังที่ประทับนี้เป็นวังที่ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ผู้เป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสี

w1

ชาวต่างชาติในสมัยนั้นเมื่อสัญจรผ่านไปมาก็มักจะอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า “นั่นวังวินเซอร์” เนื่องจากวังแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระราชวังวินด์เซอร์ แห่ง สหราชอาณาจักร ในปี พุทธศักราช 2437 สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงพระประชวรหนักด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย และสวรรคตลงอย่างกระทันหัน

โดยขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ผู้เป็นแม่ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เล่ากันว่าพระองค์ทรงพระกันแสงออกมาอย่างเสียงดังจนน่ากลัวว่าจะสวรรคตตามพระราชโอรสไป

ถึงขนาดให้ข้าหลวงนำฉากไปกั้นเป็นที่บรรทมในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อ ประทับเฝ้าพระบรมโกศทรงพระศพพระราชโอรส ในปีพุทธศักราช 2459

เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์จึงพระราชทานที่ดิน และวังแห่งนี้รวมเข้ากับที่ดินแปลงอื่นให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เป็นสถานที่ในการประสิทธิ์ประสาทวิชาต่อไป

w4

( จากภาพซ้าย คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี จากภาพขวา คือ วังวินเซอร์ และสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ )

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี พุทธศักราช 2478 หลังจากพระราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย หลวงศุภชลาศัย ผู้เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา ในรัฐบาลของ จอมพล ป พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดที่จะหาพื้นที่ก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น

จึงได้พิจารณาเห็นว่าที่ดินบริเวณวังวินเซอร์นั้นเหมาะแก่การสร้างเป็นสนามกีฬามากที่สุด (ขณะนั้นบริเวณโดยรอบๆ วังเป็นทุ่งนาว่างเปล่า )

โดยให้คนนับร้อยชีวิตมาทำการรื้อถอนวังที่ประทับรวมไปถึง สิ่งปลูกสร้างโดยรอบออกจากที่ดินแห่งนี้จนหมดสิ้น เยื้องมาอีกฝั่งทางถนนพญาไทเป็นที่ตั้งของวังสระปทุม ซึ่งเป็นวังที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ผู้เป็นแม่ ด้วยความอาลัยที่ต้องสูญเสียพระราชโอรสไปดังนั้นวังวินด์เซอร์ก็เปรียบเสมือนเป็นอนุสรณ์ถึงลูกชาย มองไปไกลๆได้เห็นยอดหลังคาของวังวินด์เซอร์ก็ทำให้หายคิดถึงไปได้บ้าง

แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ก็ทำได้แต่เพียงประทับอยู่ที่เฉลียงวังสระปทุม ฟังเสียงคนงานกระหน่ำทุบวังวินด์เซอร์อยู่ทุกเช้าค่ำ ด้วยหัวอกของคนเป็นแม่

พระองค์ถึงกับทรงตรัสกับนางข้าหลวงผู้ใกล้ชิดว่า “ได้ยินเสียงเขาทุบวังลูกฉันทีไร มันเหมือนกำลังทุบใจฉันอย่างนั้น” น้ำเสียงของพระองค์สั่นคลอนน้ำพระเนตรคลอด้วยความอัดอั้นตันใจ เล่ากันว่าถ้าไม่จำเป็นพระองค์จะไม่เสด็จผ่านไปทางกรมพลศึกษา หรือหากจำเป็นต้องผ่านก็จะหันพระพักต์มองไปทางอื่น

w3_1

( ซากสิ่งก่อสร้างบางส่วนภายหลังการรื้อถอนวัง ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )

ปัจจุบันที่ดินบริเวณวังวินด์เซอร์ บางส่วนประกอบไปด้วย ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ซึ่งเช่าต่อจากจุฬาฯ และตัววังที่ประทับคือสนามศุภชลาศัย ตามชื่อของ “หลวงศุภชลาศัย” ผู้เป็นอธิบดีคนแรกของกรมพลศึกษา

อนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ยังมีพระราชโอรสอีกหนึ่งพระองค์ นั่นก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนกในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 นั่นก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ เป็นย่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นเอง

ภาพประกอบและข้อมูลจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย

เรื่องน่าสนใจ