ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สายตาสั้น สายตายาวและสายตาเอียง เกิดมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีการใช้สายตาค่อนข้างมาก หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสายตาคือ การเพ่งจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

จากการเก็บสถิติมีการใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ยถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน และพบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีสายตาสั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่า สาเหตุหลัก ๆ คือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไป รวมถึงคนที่สายตาผิดปกติตามอายุการใช้งานของสายตา

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการรักษาสายตาให้กลับมามอเห็นในระยะปกติได้หลากหลายวิธี ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้นำนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ทันสมัยและให้ผลดีเยี่ยม และมีผลกระทบกับตาน้อยมาก เรียกว่า เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์” หรือเครื่อง “ViSuMax-MEL90

14368971651436897244l

คุณสมบัติของเครื่องมือดังกล่าว รศ.พ.ญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า ในการปรับศูนย์เลเซอร์สายตาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ครั้งนี้ นอกเหนือจากการขยายพื้นที่ให้บริการกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทางศูนย์มีการยกระดับการรักษาความผิดปกติของสายตาด้วยเลเซอร์ให้มีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย คือ “เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์” ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุด อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่เดียวในประเทศไทย

“คุณสมบัติสำคัญคือสามารถฉายแสงเลเซอร์ลงไปบนกระจกตา ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ และตัดกระจกตาให้ได้ตามที่คำนวณไว้ เครื่องมือดังกล่าวจะทำหน้าที่ตัดเนื้อเยื่อกระจกตาด้านนอกออกเป็นแผ่นบาง ๆ เพื่อเปิดเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นถัดลงไปสำหรับการฉายแสงเลเซอร์ จากเครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ ในการปรับความโค้งของกระจกตาเพื่อแก้ปัญหา อาทิ สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง เทคนิคนี้จึงมีชื่อเรียกว่า เฟมโต เลสิก

เลเซอร์ชนิดนี้มีความแม่นยำสูงในการตัดกระจกตา จึงถูกนำไปใช้กับเทคโนโลยีการผ่าตัดอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า รีเล็กซ์ และพัฒนาสู่เทคนิคใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า สไมล์ โดยมีหลักการทำงานคือ ตัดเนื้อเยื่อกระจกตาออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ มีรูปร่างและขนาดตามระดับสายตาที่ได้ตรวจไว้ก่อนล่วงหน้า จากนั้นเปิดช่องเล็ก ๆ ที่กระจกตาด้านนอกขนาดประมาณ 4 มม. โดยไม่มีการเปิดฝากระจกตา ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าการทำเลสิกโดยการใช้ใบมีดเป็นอย่างมาก และให้ค่าความแม่นยำที่สูงกว่า จากนั้นจึงคีบชิ้นเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นในที่ตัดไว้ออกมาผ่านช่องเล็ก ๆ เนื้อเยื่อกระจกตาส่วนที่เหลือจะมีการปรับความโค้งของตัวเองตามธรรมชาติ และให้ค่าสายตาใหม่ตามต้องการ”

หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตากล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ สามารถนำไปใช้ร่วมกับการผ่าตัดแก้ไขโรคกระจกตา เช่น โรคกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย ภาวะสายตาเอียงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสายตาเอียงที่เกิดภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เลเซอร์ชนิดนี้ยังสามารถนำมาใช้เจาะช่องกระจกตา เพื่อฝังเลนส์และอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับแก้ไขภาวะสายตาตามอายุ

เทคโนโลยีตัวนี้จะช่วยลดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น เลือดออกใต้เยื่อบุตา ฝากระจกตาเลื่อนหลังการผ่าตัด รวมทั้งลดอาการระคายเคืองหลังการผ่าตัดได้มาก

สำหรับค่าใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนแรกจะมีส่วนลดให้กับประชาชนทั่วไปอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือพฤศจิกายน 2558 จากราคาเต็ม 50,000-80,000 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เลเซอร์สายตาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึก 14 (ชั้นล่าง) ถ.อังรีดูนังต์ โทรศัพท์ 0-2649-4041 E-mail : [email protected] Facebook : chulaeyelaercenter

เรื่องน่าสนใจ