ที่มา: matichon

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่มีคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธาน กกอ.เป็นประธาน ได้พิจารณามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีผู้ร้องเรียนว่าจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา

โดยมีมติให้เปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้รับทราบ เพราะถ้าเลือกเรียนแล้วอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพ  โดยมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหา 10 แห่ง ใน 98 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร และหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 6.วิทยาลัยทองสุข 7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 9.สถาบันรัชต์ภาคย์ และ 10.มหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี

“ข้อมูลดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ตรวจสอบตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ มีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบตามที่กำหนด และรับนักศึกษาเกินจำนวนที่แจ้งไว้

ทั้งนี้ ในบางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าปิดบางหลักสูตรไปแล้ว แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ปิดจริง ดังนั้น กกอ.มีมติให้ สกอ.ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง เช่น เปิดเพราะมีนักศึกษาค้างท่อหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานให้ สกอ.แจ้งความดำเนินคดี” นายสุภัทร กล่าว

นายสุภัทรกล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยราชธานี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยส่งข้อมูลใดๆ ให้ สกอ.ดังนั้น กกอ.จึงมีมติให้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยให้ส่งข้อมูลมาให้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยประสานว่าจะจัดส่งข้อมูลแก่ สกอ.โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สกอ.จะรายงานมติดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบ และมีคำสั่งเพื่อดำเนินการกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งต่อไป

สำหรับ 20 หลักสูตรในที่ตั้ง พบปัญหาใน 8 มหาวิทยาลัย ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2553) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2550) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2558) ,หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554)

2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์และการแสดง (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556) หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฎศิลป์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557)

4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2558) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556)

5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2557)

6.วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555)

7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2555) และ 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555)

สำหรับหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร พบปัญหาใน 5 มหาวิทยาลัย ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร 2.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร 3.วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร 4.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร 5.สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร

เรื่องน่าสนใจ