ที่มา: dodeden

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที

โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก โดยดำเนินการร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน  ล่าสุดได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2559 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงนามบันทึกความร่วมมือดำเนินการต่อไป

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดดำเนินการนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าให้เสร็จทันใช้ก่อนสงกรานต์ปี 2560 เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยจากการเจ็บป่วย/บาดเจ็บที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ที่ยังเป็นปัญหาในการดำเนินงาน เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันคือ นิยามผู้ป่วย  การเบิกจ่ายเงิน

รวมทั้งการดำเนินการหลังจากที่พ้นวิกฤติหรือหลังจากพ้น 72 ชั่วโมง โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน ที่มีบางส่วนเข้าร่วมนโยบายโดยความสมัครใจ 

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด  การออกพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2559 จะช่วยให้การดำเนินการนโยบายนี้ เป็นไปอย่างเข้าอกเข้าใจกัน โรงพยาบาลไม่ปฏิเสธผู้ป่วยวิกฤต ไม่เรียกเก็บเงินล่วงหน้า มีระบบการเบิกจ่ายเงินเหมาะสม รวมทั้งมีโรงพยาบาลต้นสังกัดของแต่ละกองทุนรองรับ

“ส่วนกรณีที่มีแชร์ในสังคมออนไลน์ว่านโยบายนี้มีผลบังคับใช้นั้น ขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสารของทางราชการ  นโยบายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการออกกฎกระทรวงฯ รองรับนโยบาย  และให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ  เพื่อให้มีผลบังคับใช้  ประชาชนหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามที่สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หมายเลข 0 2872 1610-9” นายแพทย์โสภณ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ