เนื้อหาโดย Dodeden.com

สําหรับบางคนอาจเข้าใจว่าอาการปวดกล้ามเนื้อที่เป็นอยู่บริเวณแขนขานั้น มีสาเหตุมาจากการเล่นกีฬาหรือได้รับแรงกระแทกอยู่บ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความแตกต่างของอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อธรรมดาทั่วไป กับอาการเจ็บปวดของมะเร็งกล้ามเนื้อ มีข้อสังเกตอยู่บางประการค่ะ

โดยทั่วไป หากกล้ามเนื้อมีอาการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่นๆ  เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีก กล้ามเนื้ออ่อนล้า เราจะรู้สึกปวดเมื่อมีการขยับกล้ามเนื้อ แต่มะเร็งแขนขาจะแตกต่าง คือคนไข้จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น นอนเฉยๆ ตอนกลางคืนก็ปวด หากขยับตัวอาจปวดมากขึ้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น และก้อนมะเร็ง มีการขยับเขยื้อนของกระดูกหรือกล้ามเนื้อหรือไม่ นอกจากนี้ หากกินยาแก้ปวดที่แรงกว่าพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ไช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นระยะเวลามากกว่า 2 สัปดาห์แล้วอาการปวดยังไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ อย่างไรก็ตาม อาการร่วมอื่นๆ ที่พบได้นอกเหนือจากนี้ คือ มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และมีก้อนบริเวณร่างกาย ซึ่งมีขนาดโตขึ้นเกินแท่าตัวในระยะเวลา 2 สัปดาห์

พบก้อนมะเร็งที่แขนขา จำเป็นมั้ยที่ต้องตัดอวัยวะทิ้ง
ความน่ากลัวของมะเร็งคือมีการแบ่งตัวที่เร็วกว่าเซลล์ปกติ จึงเป็นสาเหตุว่าทําไมก้อนมะเร็งถึงมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากปล่อยทิ้งไว้นาน โดยไม่เอาก้อนมะเร็งออก โอกาสในการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่นก็จะมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะมะเร็งกล้ามเนื้อแขนขา ที่เซลล์ มะเร็งมักจะกระจายไปยังปอดและกล้ามเนื้อ ดังนั้น เมื่อคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแขนขา จึงมักแนะนําให้ตัดเนื้อร้ายทิ้งเสียแต่เนิ่นๆ

แต่หากพบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ล่ะ จําเป็นต้องตัดทิ้งทั้งอวัยวะเลยหรือไม่?
ปกติการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะเจอในระยะที่เร็วมาก เพราะการผ่าตัดจําเป็นต้องตัดเอาเนื้อดีรอบๆ ก้อนมะเร็งออกมาด้วยเพื่อลดโอกาสแพร่กระจายในอนาคต หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 5 ซม. ขึ้นไป ซึ่งไม่สามารถทําการผ่าตัดได้ เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่มาก ส่วนใหญ่จึงมีการให้ยาเคมีบําบัด หรือฉายรังสีก่อนเพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบตัว แล้วจึงทําการผ่าตัดเป็นลําดับต่อไป ส่วนในกรณีที่แพทย์จําเป็นต้องตัดอวัยวะทิ้ง มักพบได้ใน 2 กรณี คือมะเร็งอยู่ในระยะรุนแรงมาก สองคือให้ยาเคมีบําบัดและฉายแสงแล้ว ก้อนมะเร็งไม่ยุบ จึงไม่สามารถผ่าตัดได้

ป้องกันยังไงให้ปลอดภัยจากมะเร็งกล้ามเนื้อ
เนื่องจากในทางการแพทย์พบว่ามะเร็งกล้ามเนื้อไม่ได้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหารเหมือนมะเร็งลําไส้ แม้กระทั่งโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบของลําไส้ ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับอาหารปิ้งย่างเช่นเดียวกัน ส่วนการได้รับบาดเจ็บซ้ำๆ จากการถูกกระแทก การออกกําลังกายและการเล่นกีฬานั้น มีการศึกษาพบว่าอาจมีความสัมพันธ์ที่ทําให้เซลล์แบ่งตัวผิดปกติ จนกลายเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อได้ เพียงแต่พบว่าเป็นลักษณะร่วม ซึ่งไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคโดยตรง นักวิทยาศาสตร์พบว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งกล้ามเนื้อ คือมียีนผิดปกติบางชนิดที่สัมพันธ์กับมะเร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งยีนที่ผิดปกตินั้น อาจเกิดจากพันธุกรรมก็ได้ หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกายเองก็ได้ โดยที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็น และเพราะมะเร็งกล้ามเนื้อไม่ได้มีสารบ่งชี้ถึงการเกิดมะเร็งโดยตรง สิ่งที่ทําได้คือต้องหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ หากพบความผิดปกติตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อหาแนวทาง 

แม้ว่าการผ่าตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยนั้น จะดูเป็นเรื่องน่ากลัวและทําใจได้ยากสําหรับผู้สูญเสีย หากแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีในการฟื้นฟูอวัยวะและการสร้างอวัยวะเทียมมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นมาก เช่น การใส่อุปกรณ์แขนขาเทียม, การซ่อมแซมอวัยวะที่สูญเสียไปโดยใช้อวัยวะส่วนอื่นทดแทน ตลอดจนการใช้กระดูกเทียม ซึ่งช่วยสร้างความอุ่นใจให้ผู้ป่วยได้ว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนปกติอีกครั้ง

เรื่องน่าสนใจ