ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม  รายงานว่า ข่าวสุขภาพที่สำคัญได้รับความสนใจจากวงการสุขภาพ และ สาธารณสุขเมืองไทยว่าสำเร็จ ก้าวล้ำไปไกลมาก เป็นเรื่องของ รพ.รามาฯ ผ่าตัด “หัวใจเทียม Heart Mate3” รายแรกในไทย  ซึ่ง ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวความสำเร็จ “การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate3 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย” ว่า

ผู้ป่วยที่มา รพ.รามาธิบดี เป็นจำนวนมาก คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งโดยปกติมีขั้นตอนและวิธีการรักษาหลายวิธีการ หนึ่งในนั้นคือการผ่าตัด ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการผ่าตัดรักษาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate 3 เป็นวิธีการใหม่ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ได้ผลดีแก่ผู้ป่วย ซึ่งเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 เป็นเครื่องมือที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ หรือเรียกว่า “LVAD ( Left Ventricular Assist Device )”

โดยจะทำหน้าที่ปั๊มเพิ่มแรงดันส่งเลือดให้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้สามารถทำงานได้ตามปกติ

คลิ๊กชมคลิป วิธีผ่าตัดใส่เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจ

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากจำเป็นต้องรับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ก็สามารถใช้เงินมูลนิธิ รพ.รามาธิบดีมาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทุกสิทธิ ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามระบบปกติ

 นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เครื่อง Heart Mate 3 ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในกรณีที่หัวใจของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานเองได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโดยใส่เครื่องดังกล่าวมีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เช่น เดินขึ้นบันได ทำกิจกรรมต่างๆ ได้โดยรู้สึกเหนื่อยน้อยกว่าก่อนรับการรักษา อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดใส่เครื่อง Heart Mate 3 ผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์สำคัญ 4 อย่างติดตัวผู้ป่วยตลอดเวลา คือ 1 ตัวปั๊มเลือด ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับหัวใจในร่างกาย ทำจากโลหะ มีใบพัดภายในเพื่อหมุนให้เลือดไหลเวียน 2 สาย Driveline เป็นสายเชื่อมต่อส่งข้อมูลและพลังงานไฟฟ้าระหว่างปั๊มภายในกับตัวควบคุมภายนอก

3 ตัวควบคุม หรือ Controller อยู่ภายนอกร่างกาย คอยควบคุมการทำงานของตัวปั๊มเลือดภายใน มีหน้าจอแสดงผล มีไฟ และเสียงเตือนต่างๆ และ 4 แบตเตอรี สำหรับจ่ายไฟให้กับตัวควบคุม ซึ่งสามารถทำงานอยู่ได้ราว 17 ชั่วโมงหากชาร์จเต็ม โดย Heart Mate 3 เป็นรุ่นที่ 3 ที่ได้รับการพัฒนาให้ตัวปั๊มมีขนาดเล็กลง ลดข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่มีขนาดร่างกายเล็ก และช่วยให้เลือดไหลผ่านดีขึ้น

รศ.นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ข้อบ่งชี้ในการใช้วิธีผ่าตัดใส่เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจ คือ เป็นผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย คือผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีภาวะน้ำท่วมปอด ที่ได้รับการรักษาทุกวิธีแล้วไม่ดีขึ้น หรือปลูกถ่ายหัวใจไม่ได้ จึงพิจารณาใช้การผ่าตัดวิธีนี้

ซึ่งวิธีการผ่าตัดจะทำการผ่าตัดกลางหน้าอก จากนั้นจะให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว แล้วจึงเชื่อมผู้ป่วยเข้ากับเครื่องหัวใจและปอดเทียมในขณะที่หัวใจยังบีบตัวอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจะทำการวางเครื่อง Heart Mate 3 โดยการฝังท่อนำเลือดของเครื่องเข้าไปที่จุดยอดของหัวใจห้องซ้ายล่าง และนำสายควบคุมการทำงานและพลังงานออกมาทางผนังหน้าท้องผ่านทางแผลเล็กอีกแผลหนึ่ง

และสุดท้ายคือ การต่อเชื่อมท่อนำเลือดออกจากเครื่อง Heart Mate 3 เข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนจะให้เครื่องเริ่มทำงาน และค่อยๆ ลดและหยุดการทำงานของเครื่องหัวใจและปอดเทียม จากนั้นจึงทำการห้ามเลือดและเย็บปิดแผล และส่งไปดูแลหังผ่าตัดที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดี เครื่องทำงานได้ดี หายใจด้วยตนเองได้ ก็จะถอดเครื่องช่วยหายใจ

 “เครื่องดังกล่าวทำจากวัสดุไทเทเนียม จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการต่อต้านของร่างกาย เพียงแต่อาจเกิดลิ่มเลือดขึ้นกับตัวเครื่อง หรือภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ จึงต้องมีการรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต ส่วนความคงทนของเครื่องนั้น

เนื่องจากเพิ่งมีการใช้เพียง 3 – 4 ปี ข้อมูลจึงยังไม่ชัด แต่เป็นรุ่นที่พัฒนามาจากรุ่นที่ 2 ซึ่งมีการเก็บข้อมูลพบว่า อยู่ได้นานถึง 17 ปี คนไข้ที่ใส่เครื่องรุ่นที่ 2 ก็อายุยืนยาวเกิน 10 ปี และมีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ ดังนั้น รุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นตัวใหม่กว่าก็มีการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเก่า”

สำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยรายแรกนี้ เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีก่อนที่ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบง่ายด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว รพ.รามาฯ ทำการผ่าตัดทำบอลลูนอาการก็ดีขึ้น แต่เมื่อปีที่แล้วเริ่มเหนื่อยหอบอีก จึงมีการตรวจวินิจฉัยพบอยู่ในข่าวข้อบ่งชี้ จึงเสนอวิธีการรักษานี้ ซึ่งหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอยู่ใน ไอ.ซี.ยู. 3 สัปดาห์ และพักฟื้นใน รพ. อีก 1 เดือน จากนั้นก็กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย   

เรื่องน่าสนใจ