ภาวะไขมันในเลือดสูง ภัยร้ายสุดอันตราย ที่เราสามารถควบคุมได้

ภาวะไขมันในเลือดสูง

 

โคเลสเตอรอล คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายเราสร้างขึ้น พบในทุกๆ เซลล์ของร่างกาย แต่หากมีปริมาณสูงเกินไป จะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเลือดสมอง เป็นต้น เนื่องจากไขมันในเลือดสูงจะทำให้เกิดการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือด จนที่สุดหลอดเลือดจะแคบทำให้ออกซิเจนมาเลี้ยงบริเวณต่างๆ ไม่พอ เช่น มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ จนทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งมีอาการเด่นคือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น

 

 

ภาวะไขมันในเลือดสูง
how-to-flatten-stomach.com

ภาวะไขมันในเลือดสูง กับชนิดของโคเลสเตอรอลที่ควรรู้จัก

  • HDL
    เป็นโคเลสเตอรอลที่ดี ช่วยป้องกันการสะสมของโคเลสเตอรอลตามผนังหลอดเลือดได้

  • LDL
    เป็นโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี แต่พบมากที่สุดในร่างกาย LDLจะสะสมตามผนังหลอดเลือด

  • Triglyceride(TG)
    การมีLDLสูง ร่วมกับTGสูง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้

หากเรามีภาวะไขมันในเลือดสูง จะเกิดอาการอย่างไรบ้าง?
โดยปกติส่วนใหญ่เเล้วมักไม่มีอาการ แต่อาจพบไขมันสะสมบริเวณตา และผิวหนังเป็นผื่นนูนเล็กๆ สีเหลืองได้ เรียกว่า Xanthoma และจะแสดงอาการในกรณีมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น อาการของโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

 

ภาวะไขมันในเลือดสูง
podiatrytoday.com

 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะไขมันในเลือดสูง
เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์, อัมพาต) และอาจส่งผลกับหลอดเลือดแดงได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณขา เรียกว่าโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง
เกิดจากปัจจัยหลักๆ ได้แก่ กินอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัว, ไม่ออกกำลังกาย, น้ำหนักเกินเกณฑ์, กินเครื่องดื่มแอลกฮอล์, สูบบุหรี่ และอายุที่เพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ พันธุกรรม (พบได้น้อย เป็นภาวะไขมันในเลือดสูงตามพันธุกรรม), เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี, ภาวะไทรอยด์ต่ำ, ยา เช่น ยาคุมกำเนิด, ยาขับปัสสาวะบางตัว(Thiazide) เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูง
สามารถวินิจฉัยได้จากการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าระดับไขมันในเลือดนั้นส่งผลต่อการวินิจฉัย และวิธีการรักษาซึ่งเกณฑ์ต่างๆนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางรักษาของแต่ละประเทศ

หากพบว่าตนเองมีภาวะไขมันในเลือดสูงเเล้ว ควรลดการกินอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวสูง (มันสัตว์, เครื่องใน, ไข่แดง และของทอด เป็นต้น), ลดน้ำหนัก, ออกกำลังกาย จะช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลดีได้ และควรไปพบแพทย์ตั้งเเต่เนิ่นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้คำนวณความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง หากมีความเสี่ยงสูงจะพิจารณาให้การรักษาด้วยยา อย่างไรก็ตามต้องทำควบคู่กับการดูแลตนเองเสมอด้วยนะคะ

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ