ที่มา: dodeden

หลายๆ คน เห็นโลกโซเชียลแชร์ แพคเกจจิ้ง สมุนไพรใบกระท่อม จากประเทศมาเลเซียแล้ว บุคลากรในแวดวงแพทย์แผนไทย ต้องบอกกว่า เจ็บใจ มากๆ เพราะในฐานะคนไทยได้ดำเนินการขอให้แก้กฎหมายมานาน  และ เป็นชาติแรกที่ค้นพบว่าวิธีการนำใบกระท่อม มาทำเป็นยา แทนที่ข้างขวดจะติดแบรนด์ “อภัยภูเบศร” แต่กลายเป็นสินค้าของประเทศอื่นไปซะแล้ว 

ทั้งนี้ ใบกระท่อม ในมาเลเซีย  ไม่ผิดกฎหมาย มีการนำมาใช้เพื่อเป็นยารักษาโรค เพราะในกระท่อมมีสรรพคุณทางยาอย่างมากมายโดยผ่านการวิจัยจากแพทย์แผนปัจจุบัน และในอดีตในตำราหมอบ้านก็ระบุว่าใช้เป็นยาเช่นกัน

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์  ปิติพร หรือ หมอต้อม รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  กล่าวว่า ได้ดำเนินการให้รัฐถอดใบกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เนื่องจากสรรพคุณของพืชชนิดนี้ มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย

และไทยก็เป็นชาติเดียวในโลก ที่รู้จักวิธีการใช้ใบกระท่อมเป็นยา  และเห็นว่าสิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำควบคู่กันคือ แนวทางควบคุมการปลูก และการนำไปใช้จะต้องมีความชัดเจน

สำหรับ สรรพคุณทางยาของใบกระท่อม อาทิ แก้ปวดท้อง , แก้บิด , แก้ท้องเสีย , แก้ปวดเมื่อย , แก้เบาหวาน และแก้ไข้ รวมทั้งในงานวิจัยของชาวอังกฤษและญี่ปุ่น  ที่ตีพิมพ์รายงานวิชาการระบุว่า สารธรรมชาติในใบกระท่อม สามารถแก้ปวด ลดไข้ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาแก้ปวดตัวใหม่ได้ โดยไม่มีฤทธิ์เสพติดเหมือนฝิ่น

ขณะที่ในด้านประวัติศาสตร์ ใบกระท่อมคือเป็นยุทธปัจจัยหนึ่งในการออกรบของทหาร เพราะทำให้ขยัน นอนหลับดี สามารถทำงานทนแดด-ทนลม รวมทั้งใช้กินเพื่อต้องการเลิกฝิ่นได้

นอกจากนี้ยังใช้รับแขกเหมือนหมากพลู และใช้กินกับน้ำชา โดยผู้ที่เคยกินใบกระท่อมเป็นประจำ ต่างบอกว่า เลิกง่ายกว่า “หมาก”

ตั้งแต่ปี 2486 รัฐบาลประกาศห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย และครอบครองใบกระท่อม เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2522 มีการประกาศให้ใบกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่นเดียวกับกัญชา และฝิ่น ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ไทยสูญเสียโอกาสในการวิจัยใบกระท่อมเพื่อการรักษาโรค ทั้งที่เป็นพืชพื้นถิ่นของไทย

ขณะที่ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีออกกฎหมายควบคุมใบกระท่อม หรือประกาศให้เป็นสารเสพติดเหมือนในไทย ยกเว้นออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ ที่บรรจุให้ใบกระท่อมอยู่ในบัญชีสารต้องห้ามและสารเสพติด ประเภทเดียวกับกัญชา ฝิ่น และโคเคน ส่วนในประเทศเยอรมนี ไม่ได้รับรองใบกระท่อมเป็นยารักษาโรค

หากย้อนกลับไปในปี 2556  พบว่ามีข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรมถึงความเป็นไปได้ในการลดระดับใบกระท่อมเป็นพืชธรรมดาที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 

จากเดิม “ใบกระท่อม” จัดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ถูกยกระดับให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับกัญชา อยู่ในการควบคุมของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท ซึ่ง พ.ร.บ.นี้มีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน

ช่วงนั้น มีเพียง ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร สมัยยังเป็น หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ความเห็นว่า ดีใจ ที่จะปลดกระท่อม ออกจากพืชที่เป็นสารเสพติด เพราะคำว่าสารเสพติด คือการเสพอะไรก็ตาม ที่ต้องเสพอยู่ตลอด มีความต้องการในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อร่างกาย

แต่สำหรับกระท่อมหรือใบกระท่อมแล้ว ไม่ได้อยู่ในคำจำกัดความดังกล่าว เพราะกระท่อมถือเป็นพืชสมุนไพร ที่คนโบราณใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ มากมาย ทางแพทย์แผนไทย จัดให้กระท่อมเป็นยาชูกำลังชนิดหนึ่งด้วย

“คนโบราณถือว่ากระท่อมเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ขุนศึกและทหารสู้แดด มีกำลังวังชาในการออกรบ ในบทเสภา เรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนแผนเดินทัพ ได้บรรยายถึงเรื่องกระท่อมเอาไว้ว่า บ้างห่อกระท่อมสะพายแล่ง ยาหน้าแห้งตะแคงขึง ถุนกระท่อมในห่อพอตึงๆ ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกัน

สะท้อนภาพของสังคมในยุคแรงงานซึ่งต้องการสมุนไพรที่จะช่วยให้มีความทนทานในการทำงานหนัก และไม่หวั่นกลัวความเจ็บปวดเมื่อต้องสู้รบหรือไม่หมดแรงระหว่างเดินทัพทางไกล” 

เคยมีการพูดไว้ว่า ในอดีต หากไม่มีกระท่อม อาจจะรักษาบ้านเมืองเอาไว้ไม่ได้ เพราะทหารทุกคนจะใช้กระท่อมสำหรับเป็นยาบำรุงกำลัง ทนต่อแดด และความยากลำบากทั้งหลาย เพราะการสู้รบ มักจะทำกันในฤดูร้อน แดดจะแรง การเดินทัพต้องการคนที่มีกำลังทนต่อแดด เช่นเดียวกับคนทำไร่ทำนา ใครได้เคี้ยวใบกระท่อมจะขยันขันแข็ง

ภญ.สุภาภรณ์ บอกถึงความสำคัญของกระท่อมในอดีตว่า เคยมีเรื่องเล่ากันว่าหนุ่มไหนที่ไปขอลูกสาว ว่าที่พ่อตา จะถามก่อนว่า กินกระท่อม หรือกินกัญชา ถ้าตอบว่ากินกัญชา อย่าหวังว่าจะยกลูกสาวให้ เพราะคนกินกัญชาจะขี้เกียจ เอาแต่นอน ขณะที่กินกระท่อมแล้วจะขยันขันแรง ถ้าทำไร่ทำนา พืชผลก็จะออกมาอุดมสมบูรณ์ 

แต่ข้อเสียของกระท่อมก็คือ คนที่กินใบกระท่อมจะเป็นคนกลัวฝนโดยไม่รู้สาเหตุ เช่น ถ้าพายเรืออยู่แล้วฝนตก จะกระโดดน้ำหนีฝน ว่ายน้ำเข้าหาฝั่งทันที ไม่ได้กลัวน้ำ แต่กลัวฝน และทนที่จะเห็นฝนไม่ได้ ถ้าฝนตกจะหลบอยู่แต่ในบ้าน ยังไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้จริงจังว่าทำไม

ภญ.สุภาภรณ์กล่าวว่า การกินใบกระท่อม เหมือนกับการกินหมาก และดื่มกาแฟ มีทั้งผลดีและผลเสีย ถามว่าให้คนแก่ที่ติดหมาก เลิกกินหมากทรมานไหม หรือให้คนที่ติดกาแฟเลิกดื่มกาแฟทรมานไหม

คำตอบก็คล้ายๆ กับให้คนกินกระท่อม เลิกกินกระท่อม ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีใครศึกษาเพื่อนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางยาอย่างจริงจัง เพราะยังติดกับกฎหมายที่ว่า กระท่อมเป็นวัตถุเสพติดอย่างหนึ่ง แต่ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยต่างประเทศชิ้นหนึ่งเคยสกัดสารบางอย่างจากใบกระท่อมไปเป็นส่วนหนึ่งสำหรับยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด

ทั้งนี้ ในอดีต  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ยังมีมุมมองเรื่อง ใบกระท่อม เป็นพืชที่องค์การอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังมาก เพราะพบว่าเป็นส่วนผสมหลักของสิ่งเสพติดที่ต้องควบคุม

แม้จะไม่ได้ปิดกั้นหากใครจะปลูกเพื่อเป็นยาทางการแพทย์ ก็ยื่นขอมาที่กระทรวงสาธารณสุขได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตเป็นรายๆ ไป ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้  ไอเดียปลดปล่อยให้ “กระท่อม” พ้นบัญชีสารเสพติด  ชาวไทยยังถกเถียง ไม่ตกผลึกซะที จนทำให้ประเทศเพื่อนบ้านนำหน้าไทยไปแล้ว ….แต่ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  เพิ่งเดินทางไปเยี่ยมชมงานโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  จ.ปราจีนบุรี  ….หวังว่าคงจะได้ข้อสรุปในปีนี้นะคะ 

ทางทีมข่าวโดดเด่นดอทคอม จะเร่งติดตามผลมารายงานให้ทราบต่อไป …และช่วยกระทุ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วนสะที 

เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติภรณ์   บอกเล่าถึง “ใบกระท่อม” ตั้งนานแล้ว

เรื่องน่าสนใจ