ทุกเพลงพระราชนิพนธ์นี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ทรงประพันธ์ทำนองโดยยืนพื้นจากดนตรีแจ๊ส จากนั้นจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระวโรกาสให้พระสหายหรือนักแต่งเพลงคู่บุญหลายท่านได้ร่วมสร้างสรรค์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเพลงพระราชนิพนธ์จำนวนหนึ่งที่พระองค์ทรงประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีทั้งสิ้น 48 บทเพลง ทางโดดเด่นดอทคอมได้รวบรวมทั้งบทเพลง และเนื้อร้องมาให้ทุกท่านได้เก็บไว้ฟังกันค่ะ 

1. เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน หรือ Candlelight Blues

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงแก้ไขทำนอง และคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมา บรรเลงในเวลานั้น ต่อมา ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๐ และใน พ.ศ. ๒๔๙๖ นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย

เนื้อร้องเพลงแสงเทียน
จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ ต่างคนเกิดแล้วตายไป ชดใช้เวรกรรมจากจร

นิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยงเสี่ยงบุญกรรม ทุกคนเคยทำกรรมไว้ก่อน เชิญปวงเทวดาข้าไหว้วอน ขอพรคุ้มไปชีวิตหน้า ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา หนีปวงโรคาที่เบียดเบียน แสงแววชีวาเปรียบแสงเทียน

เปรียบเทียนสิ้นแสงยามแรงลมเป่า ชีพดับอับเฉาเหมือนเงาไร้ดวงเทียน จุดเทียนถวายหมายบนบูชาร้องเรียน โรคภัยเบียดเบียนแสงเทียนทานลมพัดโบย โรครุมเร่าร้อนแรงโรย หวนโหยอาวรณ์อ่อนใจ

ทำบุญทำทานกันไว้เถิดเกิดเป็นคน ไว้เตรียมผจญชีวิตใหม่ เคยทำบุญทำคุณปางก่อนใด ขอบุญคุ้มไปชีวิตหน้า ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา แสงเทียนบูชาจะดับพลัน แสงเทียนบูชาดับลับไป

2. เพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น หรือ Love at Sundown

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำต้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที

เนื้อเพลงยามเย็น
แดดรอนรอน เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา ในนภาสลับจับอัมพร
แดดรอนรอน เมื่อทินกรจะลาโลกไปไกล ยามนี้จำต้องพรากจากดวงใจ ไกลแสนไกลสุดห่วงยอดดวงตา
แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน ทุกวันคืนรื่นอุรา ต้องอยู่เดียวเปลี่ยนวิญญาณ์ เหมือนดังนภาไร้ทินกร

แดดรอนรอน หากทินกรจะลาโลกไปไกล ความรักเราคงอยู่คู่กันไป ในหัวใจคงอยู่คู่เชยชม
แดดรอนรอน หมู่มวลภมรบินลอยล่องตามลม คลอเคล้าพฤกษาชาติชื่นเชยชม ชมสมตามอารมณ์ล่องเลยไป
ลิ่วลมโชย กลิ่นพรรณไม้โปรยโรยร่วงห่วงอาลัย ยามสายัณห์พลันพรากจากดวงใจ คอยแสงทองวันใหม่กลับคืนมา
แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน ทุกวันคืนชื่นอุรา ต้องอยู่เดียวเปลี่ยววิญญาณ์ เหมือนดังนภาไร้ทินกร
โอ้ยามเย็น จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์ ยามไร้ความสว่างห่างทินกร ยามรักจำจะจรจากกันไป

3. เพลงพระราชนิพนธ์สายฝน หรือ Falling Rain 

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส , นภา หวังในธรรม, สวลี ผกาพันธ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงความลับของเพลงนี้ไว้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่า “…เมื่อแต่งเป็นเวลา ๖ เดือน ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด…ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป ๔ ช่วง แล้วก็ช่วงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เสร็จแล้วเอาช่วงที่ ๓ มาแลกช่วงที่ ๒ กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป…เป็น ๑ ๓ ๒ ๔…”

เนื้อร้องเพลงสายฝน
เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง เพื่อประทังชีวิตมิทราม น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม ทั่วเขตคามชุ่มธารา สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง แดดทอรุ้งอร่ามตา รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ เพื่อจะนำดับความร้อนใจ น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง

4. เพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง หรือ Near Dawn

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489

เนื้อเพลงใกล้รุ่ง
ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล ชุ่มชื่นฤทัยหวานใดจะปาน ฟังเสียงบรรเลงกับเพลงประสาน จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง ฉันคอยมองจ้องฟ้าเรืองรำไร ลมโบกโบยมาหนาวใจ รอช้าเพียงไรตะวันจะมา เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน ดอกมะลิวัลย์อวลกลิ่นระคนมณฑา โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราสำราญ หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน ยินเสียงบรรเลงดังเพลงขับขาน สอดคล้องกังวานซาบซ่านจับใจ

5. เพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต หรือ H.M.Blues

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐ พรรษา ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าราชการ นักเรียนและคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย ในงานมีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M.Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทาย ต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ จุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับช่วยเหลือคนจน โดยวงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า “คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรี ต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว” ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty ‘s Blues ซึ่งแปลว่าเพลงแนวบลูส์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แท้ที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men’s Blues แปลว่าเพลงแนวบลูส์ของผู้ที่หิวโหยต่างหาก

คำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษ ไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร.ประเสริฐ จึงใส่คำร้องภาษาไทย ที่มีความหมายออกมาคนละแบบ

คำร้องภาษาฝรั่งเศส ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้น.ส.เปรมิกา สุจริตกุล ถ่ายทอดความหมายจากคำร้องภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๒ โดยใช้ชื่อเพลงว่า Pauvre Destin

เนื้อร้องเพลงชะตาชีวิต
นกน้อยคล้อยบินตามเดียวดาย คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง ขาดมวลมิตรไร้คนสนิทคู่เคียงครอง หลงใหลหมายปองคนปราณี ขาดเรือนแหล่งพักพำนักนอน ขาดญาติบิดรและน้องพี่ บาปกรรมคงมี จำทนระทม

ท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งตรอมตรม ชีวิตระทมเพราะรอมา จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญาณ์ สักวันบุญมา ชะตาคงดี

6. เพลงพระราชนิพนธ์ดวงใจกับความรัก หรือ Never Mind The Hungry Men’s Blues

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากได้เสวยพระกระยาหาร และนักดนตรีได้รับประทานอาหารแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระราชทานชื่อว่า Never Mind the H.M Blues เป็นการตอบปริศนาคำทายที่ว่า H.M. แปลว่าอะไร ของเพลง H.M. Blues

คำร้องภาษาฝรั่งเศส ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้น.ส.เปรมิกา สุจริตกุล ถ่ายทอดความหมายจากคำร้องภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๒ โดยใช้ชื่อเพลงว่า Soleil d’Amour

เนื้อเพลงดวงใจกับความรัก
ค่ำคืนนภาดาราพราว ประกายแสงดาวพราวตา ดาษเรียงเคียงแสงดวงจันทรา เพลินชมแสงพรายนภาเห็นดวงดาราล้อมจันทร์ ที่จริงนั้นเดือนและดวงดาว ต่างเรืองแสงวาวพราวพรรณ ด้วยแรงจากแสงดวงตะวัน จึงมีแสงเดือนงามครันแสงดาวประชันน่าชม

เปรียบดวงดาวและดวงเดือน ก็เหมือนแม้แววมโนรมย์ เปล่งแววไปเปลี่ยนใจชม ด้วยจินตนาอารมณ์นานาประการ แน่นอนแท้จริงคือดวงใจ ส่องแววรักไปยืนนาน เปรียบดังกับแสงตะวันตระการ ยังคงแสงงามสะคราญแสงทองยืนนานเรื่อยมา

ตะวันฉายมาดาราราย ส่องแสงพริ้มพรายนัยน์ตา รื่นรมย์ชมแสงดวงจันทรา ชมดาวล้อมเดือนงามตาพริ้มพรายนภาแสงงาม มาตรแม้นสูญดวงตะวันไป ประดาแสงในฟ้าทราม ผู้คนสัตว์ไม้จะตายตาม ตะวันสูญไปเป็นยามล้วนมีแต่ความมืดมน

เปรียบดวงดาวและดวงเดือน ก็เหมือนแม้นแววมโนรมย์ เปล่งแววไปต่างใจคน เปลี่ยนแปลงไปตามใจตนเวียนวนจนตาย ตะวันนั้นเหมือนดังดวงใจ หากสิ้นแสงไปรักคลาย ขาดความรักเหมือนชีวาวาย จะเป็นหรือตายทั้งใจและกายไม่วายโศรกโทรม

7. เพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ชื่อ “ราชวัลลภ” และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราชวัลลภ” (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕

เนื้อร้องเพลงมาร์ชราชวัลลภ
เราทหารราชวัลลภ รักษาองค์พระมหากษัตริย์สูงส่ง ล้วนแต่องอาจแข็งแรง เราทุกคนบูชากล้าหาญ วินัยเทิดเกียรติชาติไว้ทุกแห่ง ใจดุจเหล็กเพชรแข็งแกร่งมิกลัวใคร เราเป็นกองทหารประวัติการณ์ ก่อเกิดกำเนิดกองทัพบกชาติไทย

เราทุกคนภูมิใจ ได้รับไว้วางพระราชหฤทัย พิทักษ์สมเด็จเจ้าไทย ตลอดในพระวงศ์จักรีฯ เราทหารราชวัลลภ รักษาองค์ฯ จะถวายสัตย์ซื่อตรง องค์ราชาราชินี ถ้าแม้นมีภัยพาลอวดหาญ มิเกรงดูหมิ่นข่มเหงย่ำยี เราจะถวายชีวีมิหวาดหวั่น จะลุยเลือดสู้ตายจะเอากายป้องกัน เป็นเกราะทองรบประจัญศัตรู ฝากฝีมือปรากฏ เกียรติยศฟุ้งเฟื่อง กระเดื่องกองทัพบกไทย ไว้นามเชิดชูราชวัลลภคู่ปฐพี

8. เพลงพระราชนิพนธ์อาทิตย์อับแสง หรือ Blue Day

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาฟอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day พร้อมด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You หลังพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้น ในวันนั้น

เนื้อเพลงอาทิตย์อับแสง
เคยชม ร่วมภิรมย์ใจ ด้วยความรักจริงยิ่งใหญ่ รักพันหัวใจเรามั่น รักเอย เคยอยู่เคียงกัน ร่มเย็นมิเว้นวายวัน ด้วยความสัมพันธ์ยืนยง ทิวางาม ยามอยู่เคียงคง สุริยาแสงส่ง ปวงชีวิตในโลกดำรงเริงใจ ร้างกัน วันห่างไปไกล มืดมนหมองมัวปานใด เยือกเย็นเข็ญใจรัญจวน

ไกลกัน พาพรั่นใจครวญ ร่างกายทรุดโทรมทุกส่วน จิตใจร้อนรวนแรงอ่อน รักเอย เลยกลับอาวรณ์ ค่ำคืนฝืนใจไปนอน ยิ่งดูเหมือนฟอนไฟลน ทิวาทราม ยามห่างดวงกมล สุริยาหมองหม่น ปวงชีวิตในโลกอับจนเสื่อมทราม หวังคอย คอยเฝ้าโมงยาม จวบจนทิวาเรืองงาม สบความรักยามคืนคง

9. เพลงพระราชนิพนธ์เทวาพาคู่ฝัน หรือ Dream of Love Dream of You 

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You พร้อมด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day หลังพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้น ในวันนั้น

เนื้อเพลงเทวาพาคู่ฝัน
ช่างงามทัศน์ทิวเขตคามงดงามน่าดู ทั้งมวลล้วนมีเป็นคู่ชิดชูเชยชมรมย์รื่น แต่ฉันดวงใจผูกพันใฝ่ฝันทุกคืน เฝ้าปองเคียงครองคู่ชื่นให้รื่นเริงใจ โลกนั้นดังเมืองสวรรค์เทวัญสร้างไว้ พิศด เป็นคู่ทุกสิ่งล้วนมีรักจริงยิ่งใหญ่ อันธรรมชาติไซร้ใช้แรงความรักความใคร่ ย้อมชีวิตให้ยืนยง อยู่เดียวเปลี่ยวใจหทัยใฝ่ฝัน เดชกามเทพพันผูกใจให้หลง

แม้เคยทำคุณบุญส่ง ฟ้าคงปรานีดีอยู่ โปรดจงประทานความเอ็นดู ให้มียอดชู้เป็นคู่ชูใจ จวบวันทิวาเฉิดฉันตะวันสดใส ฟ้าดลบันดาลรักให้สมดังดวงใจมุ่งมั่น เฝ้าวอนพระทรงเสกพรไหว้วอนทุกวัน โศกทรวงดวงใจอัดอั้นตื้นตันอุรา จวบวันราตรีเฉิดฉันดวงจันทร์แจ่มฟ้า พบความรักดังใจมั่นเหมือนเดือนตะวันกลางหล้า สมพรจากฟ้าพระทรงประทานปวงข้า ชีวิตในหล้ายืนยง

10. เพลงพระราชนิพนธ์คำหวาน หรือ Sweet Words

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๐ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

https://www.youtube.com/watch?v=QZZ0cAj6tto

เนื้อร้องเพลงคำหวาน
ได้ยินเพลงหวานก้อง ถ้อยทำนองร้องรำพัน ฝากความรักไว้มั่น ด้วยถ้อยอันอ่อนหวาน เปรียบดังเพลงทิพย์มา จากฟากฟ้าบันดาล เสียงเพลงปานเพลงวิมาน ประทานมากล่อม เมื่อได้ยินเพลงเพราะดังว่า ดั่งเทวาพาจิตโน้มน้อม หรือมาลวงลองร้องเพลงกล่อม จะประนอมให้ยอมปลงใจ หากคำหวานขานเอ่ย เพื่อเฉลยน้ำใจ รักจริงใจขอฟังไป ฟังให้ชื่นเชย

ชื่นอารมณ์สมปอง แว่วเพลงร้องคมคำ พลอดความรักเพ้อพร่ำ ด้วยถ้อยคำงามสม ถ้อยทำนองร้องส่ง ก่อให้หลงลิ้นลม เพลินเพลงชมย้อมอารมณ์ นิยมกลมกล่อม เมื่อได้ยินเพลงเพราะดังว่า ดั่งเทวาพาจิตโน้มน้อม หรือมาลวงลองร้องเพลงกล่อม จะประนอมให้ยอมปลงใจ หากคำหวานขานเอ่ย เพื่อเฉลยน้ำใจ รักจริงใจขอฟังไป ฟังให้ชื่นเชย

11. เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ 

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง โดยมีท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ สุภร ผลชีวิน เป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยืนตรงเมื่อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ดังขึ้น

เนื้อร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์
น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์ ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระคุณแนบไว้นิรันดร ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง นิสิตพร้อมหน้า สัญญาประคอง ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงชัย ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย

12. เพลงพระราชนิพนธ์แก้วตาขวัญใจ

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๒ ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเพลงในจังหวะวอลท์ซ

https://www.youtube.com/watch?v=iuqE2bQCJwU

เนื้อร้องเพลงแก้วตาขวัญใจ
แก้วตาขวัญใจเธออยู่แห่งใดขวัญเอย ขาดชู้คู่เชยรักเอยเดียวดาย เฝ้าคอยรักเศร้าเหงาใจแสนหน่าย เปลี่ยนปานชีวาวางวายคลายสุขตรม โอ้เวรไหนมาพาโชคชะตาแสนชั่ว โลกนี้มืดมัวหวาดกลัวระทม ได้แต่หวังนั่งแต่ฝันคอยคู่ขวัญตันอกตรม ร้อนอารมณ์หวังชมชิดเชยดวงใจ อยู่คนเดียวเปล่าเปลี่ยวปานใดอกใจระทม ขาดคนนิยมขาดคู่ชิดชมระบมทรวงใน โอ้บุญไม่ช่วยนำพาแก้วตาขวัญใจ ได้แต่ฝันไปไม่สบสมใจรักเอย แก้วตาขวัญใจเธออยู่แห่งใดหนอเธอ เฝ้าเพ้อเฝ้าละเมอใฝ่เธอมาเชย สุดจะเหงาเฝ้าแต่ฝันทรวงกระสันพรั่นจิตเลย ฝันถึงวันขวัญเอยชิดเชยชื่นชม

13. เพลงพระราชนิพนธ์พรปีใหม่

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง “พรปีใหม่” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕

เนื้อร้องเพลงพรปีใหม่
สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

14. เพลงพระราชนิพนธ์รักคืนเรือน หรือ Love Over Again

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕

https://www.youtube.com/watch?v=fEnvZLpSQV4

เนื้อเพลงรักคืนเรือน
โอ้รักเอ๋ย รักเคยชิดเชยชูชื่น สุดหวานอมสุดขมกลืน สุดรักยืนยิ่งยง เมื่อรักหวาน รักปานดังลมบนส่ง โบกพักไปให้รักคง ลิ่วพัดตรงทิศทาง ครั้นมีบางอารมณ์ พาให้ขื่นขมรักเบาบาง สายลมเวียนกลางทาง รักกลับจืดจางห่างไป โอ้ลมหวน สายลมแปรปรวนไปได้ ใฝ่พัดมาฝ่าพัดไป เปลี่ยนเหมือนใจคนเรา

โอ้ลมเอ๋ย ลมเคยรำเพยเชยชื่น กลับพัดเวียนเปลี่ยนทิศคืน ไม่พัดยืนเรื่อยไป เปรียบรักหวาน รักมาแปรปรวนไปใหม่ จิตวกเวียนเปลี่ยนน้ำใจ สุดเสียดายรักเรา แม้รักแปรปรวนไป จะชื่นสุขใจนั้นทำเนา แท้จริงทุกข์มิเบา ด้วยถ่านไฟเก่ารุมรม เฝ้าแต่หวัง รักเราเธอยังคงบ่ม อย่าวกเวียนเปลี่ยนเหมือนลม ด้วยหวังชมชื่นเชย

เด่นจันทร์ฉาย จันทร์แรมยังกลายมัวหม่น เปรียบเหมือนเดือนก็เหมือนคน จิตวกวกง่ายดาย ก่อนเคยเห็น ดวงจันทร์วันเพ็ญพร่างพราย ก่อนแสงแรงกลับแสงคลาย ดั่งรักกลายรักจาง เพราะมีบางอารมณ์ พาให้ขื่นขมรักเบาบาง เหมือนเดือนเวียนตามทาง เดือนมืดมัวจางห่างไป จวบวันเพ็ญ ดวงจันทร์เวียนเป็นเดือนใหม่ เปรียบรักเราอับเฉาไป กลับรักใหม่คืนคง

15. เพลงพระราชนิพนธ์ยามค่ำ หรือ Twilights

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๕ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วได้พระราชทานให้นำออกบรรเลง ในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นเพลงในจังหวะฟอกซ์ทร็อต

เนื้อร้องเพลงยามค่ำ
ยามประกายแสงทองส่อง งามเรืองผ่องนภา ประเทืองผองมวลชีวา ดังพรจากฟ้าเสกมาให้ ยามประกายแสงเดือนส่อง ยามนวลผ่องฟ้าไกล ชื่นชมสมดังดวงใจ สบสุขสุดใสหทัยบาน ยามค่ำลงโพล้เพล้ถ่ายเทประภา ในเมื่อยามทิวาต่อราตรีกาล มีแต่ความมืดมนอับจนดวงมาลย์ เหงาปานขาดใจ แท้ที่จริงนั้นยามค่ำ นำให้รื่นฤทัย ค่ำลงแล้วราตรีใหม่ เคลื่อนมาพาใจให้ชื้นชื่นเชย

ยามรุ่งแสงทิวางาม เรืองอร่ามวิไล โลกเริงสำราญปานใด หมู่มวลพันธุ์ไม้ดอกใบบาน ครั้นเมื่อยามแสงเดือนส่อง ราตรีผ่องสำราญ หมู่ดาววับวามงามตระการ โลกเป็นสถานชื่นบานใจ
ยามค่ำลงสลัวมืดมัวแสงสี แสนเปลี่ยวในฤดูสุดที่อาลัย มีแต่ความมืดมนอับจนดวงใจ คอยคืนใหม่งาม แท้ที่จริงนั้นยามค่ำ นำยามเนื่องถึงยาม ค่ำลงแล้วราตรีตาม โลกยิ่งสุดงามสมความชื่นชม

16. เพลงพระราชนิพนธ์ยิ้มสู้ หรือ Smiles

ลำดับที่ ๑๖ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๕ ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์ในปีต่อมา

เนื้อเพลงยิ้มสู้
โลกจะสุขสบายนั้นเป็นได้หลายทาง ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ สุขและทุกข์อย่างไรเพราะใจตนเอง ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้ คนเป็นคนจะจนหรือมี ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่ ยามปวงมารมาพาลลบหลู่ ยิ้มละมัยใจสู้หมู่มวลเภทภัย ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน

17. เพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชธงไชยเฉลิมพล หรือ The Colours March

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๗ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ

18. เพลงพระราชนิพนธ์เมื่อโสมส่อง หรือ I Never Dream

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๘ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ได้พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปี ของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย

https://www.youtube.com/watch?v=FnPeCcbhss4

เนื้อเพลงเมื่อโสมส่อง
อ้าโสมทอแสงอำไพ ฉันสุขใจหมายชม เพลินหลงพร่ำเพ้อภิรมย์ โสมสาดส่องแสงมา ภาคพื้นเวหาพราวพราย เพราะก่องประกายดารา เพียงเพชรพลอยส่องฟ้า
แวววับจับใจ เมฆน้อยลอยโลมลูบหาว เหมือนมืออันผ่องขาวละไม ลูบโลมนภาสดใส นั้นพาให้หทัยฉันสะเทือน โอ้ลมเอ๋ยเชยพัดเดือนมา มิให้อุราลืมเลือน เพียงเสียงเธอรำพันเตือน คำมั่นสัญญา

อ้าโสมชวนฉันคำนึง ครั้งหนึ่งกลางแสงจันทร์ เราสองพลอดเพ้อรำพัน รักมั่นไม่ผันแปร ตราบฟ้าดินม้วยแลเรา สองดับสลายดวงแด วิญญาณไม่ห่างเห ลอยรักร่วมทาง ครั้นแล้วเวรกรรมชาติไหน ระดมกันผลักไสเราห่าง เมื่อรักยังไม่หม่นหมาง รักยังสลักกลางดวงใจ แต่ยังหวังในผลบุญนำ ให้บาปกรรมแคล้วไป คืนพบความรักเดิมใน คืนหนึ่งวันเพ็ญ

19. เพลงพระราชนิพนธ์ลมหนาว หรือ Love in Spring

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นผู้นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และได้บรรเลงครั้งแรกในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนลุมพินี ในปี 2497 ต่อมา ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยาแต่งคำร้องภาษาไทย

เนื้อเพลงลมหนาว
ยามลมหนาว พัดโบกโบยโชยชื่น เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์ หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม ช่างสุขสมเพลินตาน่าดูชูใจ โอ้รักเจ้าเอ๋ย ยามรักสมดังฤทัย พิศดูสิ่งใด ก็แลวิไลแจ่มใสครัน อัน ความรักมักจะพาใจฝัน เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง ยามลมฝน พัดโบกโบยกระหน่ำ หยดหยาดนำน้ำหลั่งนอง ผึ้งภู่ทั้งวิหคเหงาเศร้าหมอง เกลื่อนกลาดผองมาลีร่วงโรยลงดิน เหมือนรักผิ หวัง เปรียบดังหัวใจพังภินท์ น้ำตาหลั่งริน และลามไหลเพียงหยาดฝนปราย อันความรักแม้นไม่เป็นดังหมาย ตราบวันตาย ชีพขมขื่นเอย

20. เพลงพระราชนิพนธ์ศุกร์สัญลักษณ์ หรือ Friday Night Rag

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๐ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อเป็นเพลงประจำวงดนตรี “ลายคราม” โดยบรรเลงทุกครั้งที่ทรงดนตรีกับวงลายคราม พระราชทานออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. ประพันธ์คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ลูกคู่

ซี วิง ลาย คราม ต้องไม่แสดง รุ่มร่าม ซี วิง ลาย คราม ต้องไม่แสดง รุ่มร่าม
หนึ่ง สอง สาม สี่ อ้าว ไม่สี หนึ่ง สอง สาม สี่ อ้าว ไม่เป่า
ซี วิง ลาย คราม ชู่ ชู่ ชู่ ชู่

เนื้อร้อง

ดีด ก็วันนี้ สี ก็วันนี้ ตี ก็วันนี้ ลายคราม
เป่า ก็วันนี้ เมา ก็วันนี้ เมา แต่ดนตรี ลายคราม
สุข ก็วันนี้ สนุก ก็วันนี้ ศุกร์ สิ้นทุกข์ ลายคราม

อิ่ม ก็วันนี้ เมื่อย ก็วันนี้ ง่วง ก็วันนี้ ลายคราม
นิ้วพัง ก็วันนี้ ปากเจ่อ ก็วันนี้ เจ่อ เพราะดนตรี ลายคราม
สุข ก็วันนี้ สนุก ก็วันนี้ ศุกร์ สิ้นทุกข์ ลายคราม

โด ก็วันนี้ เร ก็วันนี้ มี ก็วันนี้ ลายคราม
ฟา ก็วันนี้ กวา ก็วันนี้ กวาเพราะดนตรี ลายคราม
สุข ก็วันนี้ สนุก ก็วันนี้ ศุกร์ สิ้นทุกข์ ลายคราม

21. เพลงพระราชนิพนธ์ Oh I Say

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 21 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย

เนื้อร้องเพลง Oh I Say
Oh let me say, just to say, What I’ll say.
Or do you say, just to say, What you’ll say.
Oh let us say, Just to say, What we’ll say.
Now what’ll we say? Just something to be gay,
To chase the trouble and the cares of the day away.
Let us all sing the song, we want to be happy today.
Happiness comes only once in a lifetime.
We do not know whence we come, where we go.
So here goes.
Now let me say, just to say, What I’ll say.
And do you say, just to say, What you’ll say
Let us all sing the song, we want to be happy today.

22. เพลงพระราชนิพนธ์ Can’t You Ever See

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๒๒ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เพลงพระราชนิพนธ์ นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย

เนื้อเพลง Can’t you ever see
Can’t you ever see
That I love you eternally?
All my heart and my soul
From now forever will belong to you.
Can’t you ever see
Lovingly your I’ll always be?
All my thoughts and my dreams,
My whole life is just meant for you.
How can I make you see I love you alone?
I never could have you for my own
I love you, love only you,
Forever and ever I’m yours it’s true.
Life is meaningless
I’d never find my happiness,
Without you I would die
Can’t you see? I love only you.

23. เพลงพระราชนิพนธ์ Lay Kram Goes Dixie

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 23 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2498 พระราชทานให้แก่ วงลายคราม ซึ่งเป็นวงดนตรีแจ๊สส่วนพระองค์ ที่ทรงตั้งขึ้นหลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทย บรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.

“วงลายคราม” เป็นวงดนตรีที่มีแต่นักดนตรีสมัครเล่น ซึ่งล้วนแต่เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่พระองค์ทรงคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์ อาทิ หม่อมเจ้าวิมาทิตย์ รพีพัฒน์, หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์, หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์, หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล, หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์, หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นักร้องของวงลายครามได้แก่ หม่อมเจ้าบูรธาภิเศก โสณกุล, หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร

ด้วยเหตุที่วงลายครามเป็นวงดนตรีของนักดนตรี นักร้องสมัครเล่น หลายๆครั้งที่นักดนตรีมักจะเล่นผิดๆถูกๆ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงแนะนำให้กำลังใจให้ทุกคนมีความสนุกครึกครื้นอยู่กับการเล่นดนตรีอยู่เสมอ

24. เพลงพระราชนิพนธ์ ค่ำแล้ว หรือ Lullaby

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๔ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไว้ในอ้อมพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงอิเลคโทนเพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยก็หลับไป

เนื้อเพลงค่ำแล้ว
วันคล้อยมา ค่ำแล้วแก้วตาสุริยารอนรอน นอนเสียนอน จงอย่าอาวรณ์นอนเถิดนะดวงตา ฟังเสียงเพลง แว่วดังวังเวงเสียงครวญเครงนภา จันทร์ฉายมา พร่างพรายดาราดูงามฟ้าเพลินใจ โชคนำหนุนบุญส่งมา งามนักหนาพักตร์อำไพ ประนมกรขอพรชัย รัตนตรัยปวงเทวัญ ดลบันดาล แต่ความชื่นบานแสนสำราญนิรันดร์ อยู่ด้วยกัน เป็นมิ่งเป็นขวัญอย่าห่างร้างแรมไกล สุดรักเอย ตื่นได้เชยชมดวงใจ

25. เพลงพระราชนิพนธ์ สายลม หรือ I Think Of You

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๕ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

เนื้อร้องเพลงสายลม
ท่ามกลางฟากฟ้ามัวหม่น ลิ่วลมหลั่งฝนโปรยทั่ว เยือกเย็นชีพเฉาเมามัว จิตใจไหวหวาดกลัวหวั่นฟ้าคำรามลั่น โรจน์เรืองแปลบแสงฟ้าผ่า ล่องลอยลิ่วมาเสียงสนั่น โอ้ลมหนอลมพัดคืนวัน โบกโบยเพียงไหนกันพัดจนไม่รู้วันสงบเอย

ต้องลมเหล่าไม้เอนลิ่ว ลู่ใบลุ่ยพลิ้วปลิวว่อน จิตใจอ่อนท้ออาทร ด้วยลมพัดโบกวอนล่องหนวนเวียนไป อย่าเป็นอย่างสายลมเล่า เปลี่ยนแปลงซึมเซาเหลิงรักใหม่ โอ้ลมหนอลมพัดเลยไป โลกเคยรู้ฉันใดแล้วคงสุขสมใจยิ่งเอย

26. เพลงพระราชนิพนธ์ ไกลกังวล หรือ When หรือ เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย 

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๖ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยคือ นายวิชัย โกกิลกนิษฐ

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นาย Rual Maglapus อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย

เนื้อเพลงไกลกังวล
อยู่ไกลกังวลชนม์ชื่นฉ่ำ หาดทรายและน้ำนำไกลเศร้า ไม่มีหาดไหนงามเทียมเท่า คลื่นครวญคลอเคล้าวอนรักฝั่ง ค่ำคืนไม่เหงาเราเริงสุข ไม่มีความทุกข์ใดมาบัง ได้ยินแต่เสียงดนตรียัง สนุกกันทั้งยามค่ำคืน รุ่งอรุณแล้วฟ้าเรืองเรื่อ แต่ใจยังเหลือความเริงรื่น สนุกจริงหนอคลอเสียงคลื่น โต้ลมฉ่ำชื้นยามพลิ้วผ่าน โน่นเดือนยังค้างฟ้าลอยเด่น แต่เราไม่เว้นความสำราญ แข่งกันคอยรับทิวาวาร สนุกสนานกันเถิดเอย

เนื้อเพลงเกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย
เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย เกิดเป็นไทยแล้วใจต้องสู้ ถิ่นไทยเรารู้เรารักยิ่ง ศัตรูหน้าไหนไม่เกรงกริ่ง หากมาช่วงชิงตายเสียเถิด เผ่าไทยเดิมล้วนคนใจเด็ด แกร่งดังเหล็กเพชรชูชาติเชิด ต่างรักษาไว้แดนกำเนิด เกิดเป็นไทยแล้วจำใส่ใจ ปกครองรักษาทำหน้าที่ ห่วงเมืองไทยนี้ให้ยิ่งใหญ่ สิ้นเมืองไทยแล้วใครอยู่ได้ ชาติไทยคงไร้ความเสรี เผ่าไทยเราพร้อมอาสาสมัคร เด็ดเดี่ยวยิ่งนักยอมชีพพลี เสี่ยงภัยทั้งผองปองความดี ปกป้องปฐพีตายเพื่อไทย

27. เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเดือน หรือ Magic Beams

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์นี้มีลีลาชดช้อย อ่อนหวาน สง่างาม เหมาะสำหรับประกอบการเต้นบัลเล่ต์ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ต่อมาได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑

เนื้อเพลงแสงเดือน
นวล…แสงนวลผ่องงามตา
แสงจันทรา…ส่องเรืองฟากฟ้าไกล
งาม…แสงงามผ่องอำไพ
ย้อมดวงใจ…ให้คงคลั่งใคล้เดือน
ชมแล้วชมเล่า เฝ้าชะแง้แลดู
เพลินพิศเพลินอยู่ ไม่รู้ลืมเลือน
เดือน…แสงเดือนผ่องวันเพ็ญ
แสงจันทร์เพ็ญ…เด่นงามใดจะเหมือน
โฉมงามเทียบ เปรียบเดือนแสงงาม

28. เพลงพระราชนิพนธ์ ฝัน หรือ Somewhere Somehow หรือ เพลินภูพิงค์

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๘ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และนายศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้อง “ฝัน” ได้ พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมี่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ และพระราชทานให้บรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ทรงประทับพระราชหฤทัยในความงามของอุทยานดอกไม้นานาพรรณและภูมิทัศน์โดยรอบ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองเพลงนี้ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้อง “เพลินภูพิงค์” ขึ้นอีกคำร้องหนึ่ง

เนื้อเพลงฝัน
ฝันไป แห่งไหนไกลสุดจุดหมายมอง ในห้วงฝันเรืองรอง ด้วยภาพผองลำยองพร่างพราย
ฝันพลาง ใจคว้างกลางโลกแห่งนิยาย เรานี้หนอเดียวดาย สุดจะหมายตายเคียงคู่ใคร
ชีพใช่ความฝัน แต่ฉันยังฝันไป สุดแดนใดไหน ซึ่งใครคนนั้นครอง
ฝันไป จนไร้จนสิ้นจุดหมายมอง คงจักสมใจปอง ที่เรียกร้องรักคืนกลับมา (รักชื่นคืนมา)
คืนมาหารักรอท่า ประสาแสนเศร้า

29. เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชนาวิกโยธิน หรือ Royal Marines March

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ พล.ร.ต.สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำกรมนาวิกโยธิน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๒ และได้โปรดเกล้าฯให้นำออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๒ โดยวงดนตรีประจำกองเรือที่ ๗ ของสหรัฐอเมริกา ในโอกาสที่นาวิกโยธินอเมริกัน ประจำกองเรือที่ ๗ ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนประเทศไทย

เนื้อเพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน
รุกรันฟันฝ่าในธาราสีคราม สมเป็นดังนามราชนาวีไทย รบรันฟัดฟาดไม่ขลาดหวั่นไหว มีศึกมาใกล้ไม่หวั่นครั่นคร้ามริปู
เราราชนาวิกโยธินของไทย เราร่วมกายใจกันไว้เชิดชู เป็นแนวปราการรุกรานรบผลาญต่อต้านพร้อมพรู เข้าฟาดฟันรบรันศัตรูขอสู้ขาดใจ
เมื่อเราเข้าประจัญ จะผลาญให้สิ้นไป ยอมพลีชีพเพื่อชาติไทย รีบรุกบุกเข้าตี ไม่หนีสู้เพื่อชัย กายใจชีวิตมอบเป็นราชพลี
เราราชนาวิกโยธินของไทย ชีวิตมลายคงไว้ศักดิ์ศรี วิญญาณยืนยงคู่ธงนาวี ดำรงเสรีศัตรูหลีกลี้หนีไป
แม้ชีวาเราจำต้องสิ้นสูญลง แหลมทองยังคงเป็นขวัญคู่ไทย นย.เกรียงไกรไว้ลายแม้ตายชื่อไม่สูญไป ปกป้องไทยทั้งกายและใจขอไทยอยู่คง.

30-33. เพลงพระราชนิพนธ์ ภิรมย์รัก หรือ A Love Story

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ “A Love Story” และพลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันทน์ ประพันธ์คำร้อง ภาษาไทย “ภิรมย์รัก”

เพลงพระราชนิพนธ์ A Love Story เป็นส่วนหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ชุด กินรี หรือ Kinari Suite ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ชุด มโนห์รา ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด โปรดเกล้าฯให้วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร โดยทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง

A Love Story เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๐
Nature Waltz เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๑
The Hunter เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๒
Kinari Waltz เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๓

เนื้อเพลงภิรมย์รัก
ไร้คนเคียงข้าง โลกอ้างว้างหมางอารมณ์เศร้า ทิวาราตรีตรมซบเซา ส่งความอับเฉาสู่ดวงใจ
ไร้เธอหมายมั่น สุดโศกศัลย์ทุกวันหมองไหม้ เสียงครวญมวลวิหคหายไป ไม่มีแห่งไหนดอกไม้บาน
กามเทพส่งเธอมา แอบอุรารำพัน เพ้อพร่ำเพลงรักฝากชีวัน ฉันยังฝังใจภิรมย์
รักที่เธอให้ โลกสดใสดวงใจหายตรม เหลียวดูทางใดชวนหวนชม ด้วยรักสุขสมจนนิรันดร์

34. เพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นดินของเรา หรือ Alexandra

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๔ ทรงพระราชนิพนธ์โอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว ๑๐ นาที พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลงต้อนรับเจ้าหญิงในการมาเยือนครั้งนี้ ทรงประพันธ์ทำนองเพลงภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ทรงส่งโน้ตนั้นให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้องให้กับทำนองเพลงนั้นทันที

เนื้อเพลงแผ่นดินของเรา
ถึงอยู่แคว้นใด ไม่สุขสำราญ เหมือนอยู่บ้านเรา ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที มีสิทธิ์เสรี สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์ ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย ผืนแผ่นแหลมทอง รวมพี่รวมน้องด้วยกัน รักเกียรติรักวงศ์ เสริมส่งสัมพันธ์ ทูนเทิดเมืองไทยนั้น ให้ยืนยง

35. เพลงพระราชนิพนธ์ พระมหามงคล

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๕ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ครูเอื้อ สุนทรสนาน เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้เป็นเพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในโอกาสที่ก่อตั้งมาครบ ๒๐ ปี นายเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงจึงได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพลงว่า “พระมหามงคล” และได้อัญเชิญมาบรรเลงนำประจำวงสุนทราภรณ์มาจนทุกวันนี้

เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้อง มีจังหวะดนตรี 3 จังหวะ คือ เริ่มด้วยจังหวะฟอกซ์ทร็อต (Foxtrot) แล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะแทงโก (Tango) และเปลี่ยนเป็นจังหวะแมมโบ (Mambo)

36. เพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง 

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ประพันธ์ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จน พ.ศ. 2504 นักศึกษากลุ่มหนึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504

พระองค์รับสั่งว่า จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยพระราชทานให้แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ จนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 พระองค์เสด็จมาทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงบรรเลงทำนองเพลงที่จะพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย เนื้อร้องนั้นนายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์) ประพันธ์ขึ้นตามที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่าง

ชื่อ “ยูงทอง” มาจากหางนกยูงฝรั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกไว้ห้าต้นที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื้อเพลงยูงทอง
แหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชล เราทุกคนรักดุจหัวใจ ปลูกยูงทองไว้เคียงโดมมุ่งประโลมโน้มใจรัก ธรรมจักรนบบูชาเทิดไว้ เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล ปกแผ่ไปในทุกทาง สัญลักษณ์ดีเด่นเห็นกระจ่าง อย่าจืดจางรักร่วมทางกันไป

ทรงธรรมปานดังตราชูเด่น ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้ พิทักษ์รักษาเชิดชูไว้ อบอุ่นใจไปทุกกาล พระธรรมสถิตร่วมจิตสมาน ปฏิญาณรักสามัคคี รักยูงทองงามเด่นเหนือนที ส่งศักดิ์ศรีไว้ให้ยิ่งยืนนาน

37. เพลงพระราชนิพนธ์ ในดวงใจนิรันดร์ หรือ Still on My Mind

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๗ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

เนื้อเพลงในดวงใจนิรันดร์
อยากลืมลืมรักลืมมิลง กลับพะวงหลงเพ้อเงา เปรียบปานเพลิงรักรุมสุมเศร้า เปลี่ยวเปล่าร้าวรอน แต่เพียงกาลเวลาอันหมุนเวียน ฤๅอาจผลัดเปลี่ยนเบียนรักคลอน รสรักจากกร สอดสวมกร ยังถาวรติดเตือน

เมื่อยามอาทิตย์ลอยคล้อยต่ำ ย่ำยามท้องฟ้าเลือน ยังหวังเชยชิดกันฉันเพื่อน ติดเตือนตรึงใจ สุดประพันธ์บรรเลงให้ครบครัน วันอาจจะผ่านเวียนผันไป รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นใน ดวงใจนิรันดร์

38. เพลงพระราชนิพนธ์ เตือนใจ หรือ Old-Fashioned Melody

 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๘ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

เนื้อเพลงเตือนใจ
เสียงเพลงเพราะเพลินพาเคลิ้มไป ให้อารมณ์หวั่นไหวแรงรักเธอ คิดตรึงซึ้งไว้ใจละเมอ รักเธอดั่งเพลงเดือน
เสียงเพลงนี้พาเราฝันไป ก่อนเคยสุขสดใสในแสงเดือน คิดตรึงซึ้งไว้ใจฝันเตือน มิเลือนและลืมเธอ
ต่างเคยหยอกเย้าพะเน้าคลอ ต่างคนต่างพ้อเพียงละเมอ สบความสุขทุกข์คลายเพราะเธอ ต่างปรนเปรอใจ
เสียงเพลงนี้พาเราภิรมย์ ต่างชมเชยชิดสองครองหัวใจ เสียงเพลงนี้ซึ้งตรึงฤทัย นึกไปชื่นใจเอย

39. เพลงพระราชนิพนธ์ ไร้เดือน หรือ ไร้จันทร์ หรือ No Moon

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย ชื่อ “ไร้จันทร์” ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวายชื่อ “ไร้เดือน”

เนื้อเพลงไร้เดือน
ไร้เดือน เหมือนดังฟ้าที่ไร้แสงส่อง รักน้องนั้นหวานชื่น รื่นรมย์ชมพักตร์แทนเดือน
งามดวงหน้าติดตราตรึงใจไซร้ ยิ้มรื่นใครจะมาเหมือน ไร้เดือนเลือนไม่แลเห็น ก็เป็นสุขใจไม่วาย
ไร้ดาว มืดในหาวไม่เห็นแหนงหน่าย สายรักแสนสูงส่ง มั่นคงในดวงวิญญาณ์
ถึงใครอื่นชื่นชมเดือน ฝันใฝ่ดาวบนฟ้า แต่เราชิดหน้า รสความรักไม่ร้างรา

40. เพลงพระราชนิพนธ์ เกาะในฝัน หรือDream Island

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๐ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

เนื้อเพลงเกาะในฝัน
ฉันสุดปลื้ม ไม่ลืมเกาะงามที่เคยฝัน หลงเพ้อคำมั่น รำพันถึงความรักชื่นฉ่ำ
แสงจันทร์ผ่อง ส่องเป็นประกายบนผืนน้ำ เสียงสายลมพร่ำ คร่ำครวญเหมือนมนตรา
หาดทรายขาว หมู่ดาวพร่างพราวนภา รูปเงาเพราพริ้งตา ใยด่วนลาเลือนมลาย
ฝันสุดสิ้น ไม่ยลไม่ยินน่าใจหาย ฝันถึงไม่หน่าย ไม่คลายร้างราเธอ

41. เพลงพระราชนิพนธ์ แว่ว หรือ Echo

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๑ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย เพลงนี้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ ๑ ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙

เนื้อเพลงแว่ว
เพลงแว่วแผ่วกังวาน หวานใดปานเพลงรักระรื่น กลับคะนึงถึงวันคืน เคยชิดชื่นอุรา
แสงนวลประกายฉาย ผ่านฟ้าครามแลอร่ามตา เปรียบดวงพักตร์ผ่องเพียงจันทรา นวลแสงแววตาประกาย
หวังประสบ ฉันยังอยากพบเธอไม่วาย รักมิหน่าย รักเราสุดหมายแลสุดหวัง
ร้าวรอนเพลงสะท้อน แต่สำเนียงเพียงแผ่วแผ่วดัง โลกเรานี้แท้ไม่มียืนยัง แต่ความรักเราจีรังคงคู่ฟ้ายั่งยืน

42. เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งจัดว่าเป็น 1 ใน 3 สถาบันการศึกษาที่พระองค์ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบัน โดยอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2492 และเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทองที่พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2506

เนื้อเพลงเกษตรศาสตร์
เขียวธงขจี ก่อเกิดไมตรี สามัคคีมั่น สถานเรียนเกษตรนั้น เราผูกพันบูชา
เขียวนาป่าไพร แผ่นดินถิ่นไทย ไพบูลย์หนักหนา เพราะไทยผลิตค้า ทุกแหล่งฟ้า หล้าอิ่มเอม

(ญ) แม้เหนื่อยกาย ใจสำราญ เสร็จกิจการงาน เกษตรเกษม
(ช) ล้วนปรีเปรม นำวิชา สร้างชาติ สร้างตน รวมแรงรวมใจ

จะจงรัก จอมจักรินทร์ อีกแดนแผ่นดิน ทำกินเก็บผล พระคุณเกษตรล้น รักเปี่ยมท้น ดวงจิตเอย

43. เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด หรือ The Impossible Dream

เมื่อ พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

เนื้อเพลงความฝันอันสูงสุด
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ  ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

44. เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ นายสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ ๔ บท จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด ๕ เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เสร็จแล้วพระราชทานให้ วง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

เนื้อเพลงเราสู้
บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้ เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

45. เพลงพระราชนิพนธ์ เรา-เหล่าราบ ๒๑ หรือ We-Infantry Regiment 21

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๕ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพลงนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ร้อยตำรวจโทวัลลภ จันทร์แสงศรี แต่งเนื้อเพลงให้แก่กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ หรือที่รู้จักในนามว่า “ทหารเสือพระราชินี” แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพระราชทาน

เนื้อเพลงเรา-เหล่าทหาราบ ๒๑
เราทะนงองอาจฉกาจแกร่ง ทุกหนแห่งสู้ศึกฮึกเหี้ยมหาญ หลั่งเลือดโลมพสุธาปฏิญาณ แม้นภัยพาลรุกถิ่นแผ่นดินไทย
เราจะสู้สุดชีวิตมิคิดพรั่น เป็นกำแพงป้องกันไม่หวั่นไหว ถึงม้วยมุดสู้สุดลมหายใจ ขอเทิดเกียรติชาติไทยอยู่ทุกยาม
เราเชื้อชาติชายชาญทหารกล้า ทหารเสือราชินีศรีสยาม เกียรติระบือลือเลื่องกระเดื่องนาม ทั่วเขตคามรู้เหล่าเรา ส.ก.
อันที่สุดของไทยนั้นคือชาติ หากพินาศแล้วใครอยู่ได้หนอ เราเหล่าราบยี่สิบเอ็ดไม่รั้งรอ เราจะขอไว้ลายให้ลือนาม
เราเชื้อชาติชายชาญทหารกล้า ทหารเสือราชินีศรีสยาม เกียรติระบือลือเลื่องกระเดื่องนาม ทั่วเขตคามรู้เหล่าเรา ส.ก.

46. เพลงพระราชนิพนธ์ Blues for Uthit

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 46 ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522 และได้พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2522

47. เพลงพระราชนิพนธ์ รัก

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงสำหรับกลอนสุภาพ ๓ บท ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลงนี้ให้วง อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ต่อมา เมื่อทรงแก้ไขแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสานเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ในงานพระราชทานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แจกคำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” แก่แขกผู้ได้รับเชิญทุกโต๊ะไว้ล่วงหน้า ต่อมาก็เชิญแขกผู้ได้รับเชิญ อาทิ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และนายทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์บนเวที ทีละโต๊ะจนทั่วถ้วน โดยทรงบรรเลงดนตรีนำด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกอากาศทาง สถานี จ.ส.๑๐๐ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๘

เนื้อเพลง รัก
รักทะเล อันกว้าง ใหญ่ไพศาล รักท้องฟ้า โอฬาร สีสดใส รักท้องทุ่ง ท้องนา ดังดวงใจ รักป่าเขา ลำเนาไพร แสนสุนทร
รักพฤกษา รุกขชาติ ที่ดาษป่า รักปักษา ร้องกู่ บนสิงขร รักอุทัย สว่าง กลางอัมพร รักทั้งรัต- ติกร ในนภดล
รักดารา ส่องแสง สุกสว่าง รักน้ำค้าง อย่างมณี มีโภคผล รักทั้งหมด ทั้งสิ้น ที่ได้ยล รักนวลนาง รักจน หมดสิ้นใจ

48. เพลงพระราชนิพนธ์ เมนูไข่….

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๘ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ “เมนูไข่” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วง อ.ส. วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

เนื้อเพลงเมนูไข่
เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน ไข่เค็มไข่ลวกทั้ง ไข่หวาน กับไข่ต้มสุกนาน เยี่ยวม้า เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน ไข่ตุ๋นรสเยี่ยมปาน รสทิพย์ ไข่ไก่โอ้เอี่ยมอ้า อร่อยแท้อยากกิน

เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน เมนูไข่เมนูไข่ อร่อยแท้อยากกิน

เรื่องน่าสนใจ