ที่มา: https://dodeden.com

จากนโยบายของนายแพทย์โสภณ   เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้แล้ว โดยผลงานโดดเด่นที่ปลัด สธ.ได้ฝากไว้ในตำแหน่งข้าราชการประจำระดับสูงสุดคือ ระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ  

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์โสภณ ได้ประชุมวิชาการระดับประเทศ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดภายใต้หัวข้อ การพัฒนายุทธศาสตร์ระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ 4.0 “ก้าวต่อไปเพื่อระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มั่นคง”โดยมี ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5,000 คน เข้าร่วมประชุม

สำหรับ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นระบบการทำงานด้านสุขภาพร่วมกับทุกภาคส่วน ด้วยการบูรณาการทรัพยากรภายในพื้นที่ ส่งเสริมประชาชนและชุมชนให้พึ่งตนเองโดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดนำระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอไปพัฒนางานด้านสาธารณสุข สอดคล้องกับการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ติดดาว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น และได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพดีขึ้น

กลไกการทำงานสำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (District Health Board : DHB) ตามแนวคิด “คนไทย ใส่ใจดูแลกัน” ประกอบด้วย ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายวิชาการ (สาธารณสุข) และภาคเอกชน  ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่   เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ที่ไม่ซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำ

โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เน้นหนักในผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กปฐมวัย อุบัติเหตุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขยะและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และโรคเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เน้นการป้องกันและจัดการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 200 อำเภอ และจะครบทุกอำเภอในปี 2561

นอกจากนี้ ยังได้พาคณะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่มีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เชื่อมโยงกับบริการในระดับสูงขึ้นคือระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ    ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกแห่งปรับระบบบริการมีการเชื่อมโยงบริการตติยภูมิสู่ปฐมภูมิ

เน้นการสนับสนุนเครือข่ายพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในเครือข่ายให้มีศักยภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ใกล้บ้านมากขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาลแม่ข่าย

สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่นได้ปรับระบบบริการ โดยแยกคลินิกผู้ป่วยนอกออกนอกโรงพยาบาลและปิดคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป (OPD Walk-in) รวมทั้งผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยให้ไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิตามที่กำหนด เพื่อเป็นด่านแรกในการให้บริการกับประชาชน

ในระยะแรกระหว่างปี 2554-2558 จัดบริการในเครือข่ายย่อยที่เป็นศูนย์แพทย์ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็นคลินิกหมอครอบครัว (PCC)  4 เครือข่าย ได้แก่ ศูนย์แพทย์มิตรภาพ, วัดหนองแวงพระอารามหลวง, ชาตะผดุง และประชาสโมสร มีผู้รับบริการเฉลี่ยศูนย์ละ 150-250 รายต่อวัน

ทั้งนี้ จากการปรับระบบริการดังกล่าว ทำให้คลินิกหมอครอบครัวสามารถรักษาบริการผู้ป่วยนอกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ถึง  26,621 คนต่อเดือน หรือ 319,451 คนต่อปี  และ 75,480 ครั้งบริการต่อเดือน หรือ 905,762 ครั้งบริการต่อปี ลดระยะเวลาการรอคอยจาก 184 นาทีที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 47 นาทีที่คลินิกหมอครอบครัว

ผู้ป่วยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนการมารับบริการระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายกับโรงพยาบาลแม่ข่ายคิดเป็น 74 : 26  โดยในกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง/ติดบ้าน 869 คนผู้ป่วยระยะท้าย 134 คน คนพิการ 199 คน ผู้ป่วยจิตเวช 109 คน ผู้ป่วยเอดส์ 86 คน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 17,203 คน ผู้ป่วยวัณโรค 357 คน ผู้ป่วยมะเร็ง 81 คน ผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยังได้รับการดูแลเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง จากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคนเดิม หากมีภาวะแทรกซ้อนสามารถส่งต่อพบแพทย์เฉพาะทาง ที่โรงพยาบาลแม่ข่ายอย่างเป็นระบบอีกด้วย

เรื่องน่าสนใจ