วันนี้ (19 พ.ย.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาแผนโบราณที่มีการโฆษณาสรรพคุณเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศนั้น อาจมีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยการปลอมปนยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์เสริมสมรรถภาพทางเพศ

 เนื่องจากมีความนิยมมาก ซึ่งจากการตรวจสอบมักพบยา 3 ชนิดปลอมปน ซึ่งเป็นควบคุมพิเศษต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นคือ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) หรือชื่อทางการค้าคือ ไวอะกร้า ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และ วาร์เดนาฟิล (Vardenafil) หรือมักจะผสมยา 2 ตัวร่วมกัน

11.jpg

 

รวมถึงมีการใช้สารที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับยาเสริมสมรรถภาพทางเพศทั้ง 3 ชนิด มาใช้แทนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ โดยปี 2554 กรมฯตรวจพบสารอะมิโนทาดาลาฟิล (Aminotadalafil) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับยาทาดาลาฟิล และล่าสุด ในปี 2557 ตรวจพบสารใหม่ซึ่งไม่เคยตรวจพบในยาแผนโบราณที่จำหน่ายในประเทศ คือ อัลเดนาฟิล (Aildenafil) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับยาซิลเดนาฟิล

  นพ.อภิชัย กล่าวว่า สารดังกล่าวเหล่านี้ไม่มีข้อมูลความปลอดภัย จึงไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา ทำให้มีความเสี่ยงมาก เพราะไม่เพียงมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดแดงที่อวัยวะเพศชาย ยังมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดบริเวณอื่นของร่างกายด้วย ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาลาย หน้าแดง อาหารไม่ย่อย หายใจลำบาก อาจสูญเสียการได้ยิน

หรือเกิดความผิดปกติของระบบประสาทตา หรืออาจทำให้มีความดันโลหิตต่ำรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่เสริมฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด และยังอาจเกิดความเป็นพิษอื่นๆ จากสารนี้ได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลความเป็นพิษของสารเหล่านี้

“กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงมากในการกินสมุนไพรที่อ้างช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ เพราะไม่ทราบว่ามีการใส่กลุ่มยาปลุกเซ็กซ์ จึงไม่ทันระวัง เมื่อกินแล้วอวัยวะเพศชายแข็งตัวนานขึ้น มีการออกแรงมากกว่า ทำให้เหนื่อยมากว่าเดิม บางครั้งทำให้มีผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากหัวใจวายได้ ซึ่งกลุ่มยาปลุกเซ็กซ์เป็นยาที่มีความเฉพาะ ดังนั้น ผู้ที่จะรับประทานต้องได้รับการอนุญาตจากแพทย์ก่อน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาอัลเดนาฟิลน่าจะเป็นยาสังเคราะห์ใหม่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับซิลเดนาฟิล อาจจะออกฤทธิ์แตกต่างกันบ้าง แต่โดยหลักแล้วจะออกฤทธิ์คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนว่ามีการผลิต หรือนำเข้ามาในประเทศไทย หากผลิตยาแผนโบราณที่มีส่วนผสมของยานี้จะถือเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ มีการผลิต และขายโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต่อจากนี้จะมีการประสานไปยังกรมวิทย์เพื่อขอข้อมูลและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000133510

 

เรื่องน่าสนใจ