เมื่อ เอ่ยถึง “Botulinum toxin” ชนิด A หรือที่คนไทยเรียกว่า “โบท็อกซ์” (Botox) หลายคนอาจนึกไปถึงแวดวงศัลยกรรม และเสริมความงาม แต่ในปัจจุบันโบท็อกซ์ มีบทบาทในวงการแพทย์อื่นมากมาย คือ นำมาใช้รักษาโรคไมเกรน และอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ

11.jpg

นพ.ชาคร จันทร์สกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท ร.พ.กรุงเทพ เปิดเผยว่า อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาการที่ผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์ บ่อยที่สุดคือปวดศีรษะไมเกรน สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้สมองไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ หรือเกิดการอักเสบ ของเส้นเลือด สมองและเส้นประสาท พบมากในเพศหญิงมากกว่าชาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 25-55 ปี

ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะไมเกรน มักปวดศีรษะข้างเดียว แต่อาการอาจย้ายข้างหรือปวดทั่วๆ ทั้ง 2 ข้างได้ อาการอาจรุนแรงจนทำให้การเรียนหรือการทำงานเสีย เพราะในขณะที่มีอาการ การเคลื่อนไหวหรือกิจวัตรประจำวันต่างๆ มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือไม่อยากเห็นแสงจ้า และไม่อยากได้ยินเสียงดัง

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน เรื้อรัง (Chronic Migraine) คือปวดศีรษะอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไป การฉีดโบท็อกซ์ ชนิด A เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์นำมาใช้รักษา ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เชื่อว่าสามารถยับยั้งปลายประสาท ที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองด้วย จึงลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างดี และอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดศีรษะเป็นประจำ

โดย แพทย์จะฉีดโบท็อกซ์ที่ใบหน้าระหว่างคิ้ว หน้าผาก ท้ายทอย ต้นคอ และบ่า 31 จุด จากการวิจัยพบว่าสามารถลดอาการปวดลงได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีผลอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน มีผลข้างเคียงน้อย

นอกจากการฉีด สารโบท็อกซ์แล้ว ไมเกรนยังรักษาด้วยวิธีอื่น อาทิ การให้ยาป้องกันทานติดต่อกัน 6 เดือน-1 ปี การใช้วิตามินหรือเกลือแร่ การใช้ยาฉีดร่วมกันหลายชนิด เพื่อลดอาการปวด เป็นต้น

หรือ การรักษาแบบไม่ใช้ยา อาทิ การ ฝังเข็ม การทำกายภาพบำบัด ให้เรียนรู้ถึงการควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การหายใจ การกำหนดจิต เป็นต้น

ด้าน นพ.อภิชาติ พิศาลพงศ์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท กล่าวว่า นอกจากโรคไมเกรนแล้ว โบท็อกซ์ยังใช้รักษา โรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อาทิ โรคหน้ากระตุกครึ่งซีก โรคคอบิด เป็นต้น ซึ่งสารนี้จะช่วยบรรเทาอาการเกร็ง หรือกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าหรือหนังตา แก้ไขคอที่เอียงผิดปกติ

โดย โบท็อกซ์จะไปยับยั้งการปล่อยสาร Acetyl Choline ที่ปลายประสาทที่ต่อกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง โดยยาจะไม่ออกฤทธิ์ทันที แต่ต้องใช้เวลา 3-4 วัน และจะออกฤทธิ์สูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 จะอยู่ได้ 2-3 เดือน แล้วค่อยๆ หมดฤทธิ์ลง

ที่มา ข่าวสด

เรื่องน่าสนใจ