ศัลยกรรม กับแนวทางออกกฎควบคุมศัลยแพทย์ให้มีคุณภาพ

ศัลยกรรม ความหวังทางลัดของบรรดาสาวอยากสวยหนุ่มอยากหล่อ จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันการทำศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นจมูก ตา ปาก คิ้ว เหลากราม หรือแม้แต่การฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ และเฟรชเซลล์ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

30-18

 

แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามบนเส้นทางที่กว่าจะไปถึงความสวยความหล่อ จะมีใครฉุกใจคิดหรือไม่ว่ามักจะมีอันตรายแอบแฝงตัวเป็นเงาที่มักจะมาคู่กันเสมอ บางครั้งต้องเสียโฉม หรือหนักหนาสาหัสกว่านั้นคือการต้องสังเวยด้วยชีวิต

ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ คือ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี “ม้าพยศ 2557” จนกลายเป็นข่าวครึกโครม ได้แก่ กรณีพริตตี้สาวชาวเชียงใหม่ วัย 30 ปี เข้าทำศัลยกรรม ทุบโหนก-ทุบกราม หรือทำวีไลน์ ที่คลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ และ เกิดอาการแพ้ยาสลบจนทำให้เสียชีวิตในระหว่างการผ่าตัด และอีกกรณี คือสาวผิวสีชาวอังกฤษอายุ 24 ปี เสียชีวิตคาคลินิกศัลยกรรมความงาม ย่านซอยภาวนา ขณะมาผ่าซิลิโคนที่ก้น

แม้วันนี้เหยื่อทั้ง 2 รายต้องสังเวยด้วยชีวิต แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ในความทรงจำ ถึงความสูญเสียที่ให้มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้านก็ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ น่าจะสามารถเป็นอุทาหรณ์ที่คอยเตือนใจกับคนอยากสวยอยากหล่อถึงอันตรายที่ไม่อาจมองข้าม

30-19

นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศ ไทย เล่าว่า ศัลยกรรมปัจจุบันเป็นความต้องการของประชาชนที่ถาโถมเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันทุกคนไม่อายที่จะทำศัลยกรรมและทุกคนยังพยายามที่จะทำศัลยกรรม จนกระทั่งปัจจุบันการทำศัลยกรรมกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นการทำศัลยกรรมถ้าจะเรียกว่าเป็นที่นิยมก็พูดได้ ซึ่งเมื่อไปเทียบกับเมื่อประมาณ 20-30 ปี ใครทำศัลยกรรมต้องปกปิด เป็นเรื่องที่น่าอาย แต่เดี๋ยวนี้ผู้ที่ไปทำกลับจะถ่ายรูปโชว์และรีวิวในโซเชียลเลยด้วยซ้ำ ผิดกับอดีตที่ห้ามเผยแพร่ ซึ่งเมื่อความต้องการในการทำศัลยกรรมมีมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหมอที่เข้ามาอยู่ในวงการศัลยกรรมเสริมสวยและความงามมีไม่พอต่อความต้องการ โดยหมอที่ทะลักเข้ามานั้นเป็นหมอที่ไม่ได้รับการฝึกฝน อบรม และร่ำเรียนมาจนเชี่ยวชาญโดยตรง เนื่องจากหากอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญต้องเรียนเพิ่มอีกประมาณ 2-3 ปี

“ปัจจุบันไทยมีหมอที่ผ่านการอบรมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำศัลยกรรมอย่างถูกต้องจริงๆ ประมาณ 100–200 คน เท่านั้น ส่วนคนที่ได้รับการ อบรมมีผลงานมากและสามารถทำได้อย่างปลอดภัยมีไม่ถึง 100 คน ดังนั้น

30-20

ขณะนี้ในวงการศัลยกรรมจึงเกิดความแปรปรวน เนื่องจากหมอจบใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ใช่หมอเฉพาะทางที่มีประมาณปีละ 2,000 คน จบออกไปแล้ว แต่ราชการไม่สามารถรองรับได้หมด และแม้แต่เอกชนก็ไม่รับเพราะเอกชนเองก็ต้องการหมอที่มีความชำนาญและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งหมอจบใหม่ก็จะถูกส่งไปตามต่างจังหวัด และหากหมอคนใดไม่อยากอยู่ต่างจังหวัดก็จะกลับเข้ามากรุงเทพฯ และหากมาเปิดรักษาโรคทั่วไปก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นการเปิดร้านด้านความงาม เช่น รักษา สิว ฝ้า ฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ จึงเป็นทางเลือก” คุณหมอชลธิศฉายภาพให้เห็นชัดเจน

นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ยังระบุด้วยว่า ผลเสียจากการทำศัลยกรรมเหล่านี้ ถูกซ่อนอยู่เหมือนเป็นขยะใต้พรม แต่หน่วยงานที่จะได้รับทราบตลอดคือแพทยสภา ซึ่งแพทยสภาก็พยายามที่จะแก้ไข ด้วยการเตรียมสร้างหลักสูตรและทำศัลยกรรมให้มีมาตรฐาน โดยจะแยกการศัลยกรรมออกเป็นหลักสูตร เช่น หมอตาจะมีหลักสูตรว่าทำตาอย่างไร หมอหู จมูก ปาก ฟัน ขากรรไกร โครงหน้า หมอทางด้านศัลยกรรมพลาสติก แปลงเพศ ก็จะแยกออกไปชัดเจนเลยว่าขอบเขตของการทำเป็นอย่างไรและแค่ไหน หมอศัลยกรรมทั่วไปก็จะไปออกหลักสูตรว่า ทำนม หน้าอก

จะทำอย่างไร ส่วนหมอกระดูก สูติ ก็จะให้เป็นหลักสูตรเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีการเสนอและหารือกันบ้างแล้ว ทั้งนี้เพื่อควบคุมหมอจบใหม่ที่หันไปเปิดร้าน ให้เข้ามารับการฝึกเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน ขณะที่แพทยสภาเองก็มีการตั้งคณะกรรมการ เรียกว่าอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมวิชาการด้านศัลยกรรมความงาม และมีการหารือกัน แล้วกว่า 10 ครั้ง

30-21

“ศัลยกรรมอย่ามองแต่ทางบวก เมื่อทำออกมาแล้วสวยได้ มันก็ย่อมมีเสียได้ สิ่งที่ถูกนำมารีวิวเป็นเพียงการหยิบยกมาแต่สิ่งที่สวยงามเท่านั้น แต่ที่เสียๆ นั้น ต้องถามตัวเองว่าถ้าเสียแล้วจะไปแก้ ที่ไหน ส่วนจะไปทำกับใครก็จะตามมาเอง ซึ่งถ้าเป็น ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจะมีวิธีแก้ อย่างไรก็ตาม อันตรายจากการทำศัลยกรรมมีทั้งเสียโฉม สูญเสียอวัยวะและเสียชีวิต และที่น่าตกใจคือกลุ่มที่สนใจทำศัลยกรรมส่วนใหญ่คือวัยรุ่น คนในวงการบันเทิง และโมเดลลิ่ง และสิ่งที่น่ากลัว คือ หมอบางรายไม่เคยจับมีดจับกรรไกรศัลย-กรรม ก็หันมาจับ เพราะฉะนั้นศัลยกรรมขณะนี้จึงมีปัญหาคือหมอไม่พอ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หมอผู้เชี่ยวชาญไม่พอ และหมอที่มาทำเป็นหมอที่ไม่ได้ฝึกอบรมไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กระทบตามมาคือความเสียหายจากการศัลยกรรมจะเกิดถี่มากขึ้นพบสูงขึ้น โดยระยะหลังๆจะเห็นว่ามีการตายจากศัลยกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบทั้งการเสียโฉม ปากเบี้ยวก็เกิดขึ้นเยอะ แต่ซ่อนอยู่ไม่ได้รับการเปิดเผย” หมอชลธิศ กล่าวเตือนทิ้งท้าย

ขณะที่ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า สำหรับการทำศัลยกรรม เฟรชเซลล์ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันแพทยสภามีการรับรองและอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะโรคที่เกี่ยวกับเลือดเท่านั้น และขณะนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการหารือกับแพทยสภา เพื่อหาคำนิยามที่ชัดเจนว่าการตรวจร่างกาย ซักประวัติ ลงทะเบียน จะเข้าข่ายการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีการอาศัยช่องว่างตรงนี้ในการกระทำผิด โดยเมื่อมีการตรวจจับก็จะถูกปฏิเสธว่าไม่ได้ฉีดเพียงแค่ตรวจร่างกายเท่านั้น ซึ่งการฉีดเฟรชเซลล์นั้น มีราคาสูงถึงรายละ 1.3 ล้านบาท

30-22

“เบื้องต้นได้หารือกับแพทยสภาและทราบว่า คำนิยามในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจริงๆ คือเริ่มตั้งแต่ซักประวัติ ซึ่งขณะนี้กำลังรอเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทยสภาอยู่ ซึ่งหากได้รับเอกสารดังกล่าวแล้วต่อไปการตรวจร่างกาย ฯลฯ ก่อนส่งไปฉีดเฟรชเซลล์ในต่างประเทศก็อาจเข้าข่ายว่ามีความผิดไปด้วย เพราะไทยอนุญาตให้ใช้เฟรชเซลล์กับโรคเลือดเท่านั้น” หมอบุญเรือง เล่าถึงการพยายามหามาตรการคุมเข้มเพื่อความปลอดภัยของผู้รับการบริการรักษา

ขณะนี้ สบส.กำลังร่วมกับแพทยสภา ยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการรับบริการสเต็มเซลล์ด้วย เพื่อกำหนดการให้บริการอย่างละเอียดต่อไป และคาดว่าภายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) น่าจะมีออกมา ซึ่งเนื้อหาที่สำคัญคือการดำเนินการกับผู้ที่รักษาในเรื่องเหล่านี้โดยไม่ได้มาตรฐานตามประกาศแพทยสภา รวมถึงเรื่องการพาณิชย์ที่มีราคาเป็นล้าน และประเด็นหลักคือจะมีการกำหนดเลยว่าสเต็มเซลล์ที่จะมารักษาจะมีอะไรบ้างที่ทำได้ และผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายตามมาตรฐานก็ถือว่าเป็นการเชิงพาณิชย์จะมีบทลงโทษสูง ซึ่งจะครอบคลุมการส่งไปทำต่างประเทศด้วย

ในปัจจุบันคลินิกด้านเสริมความงามในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าแห่ง เป็นเวชกรรมประมาณ 7 พันแห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 4,000 แห่ง และส่วนที่เป็นคลินิกความงามในประเทศไทยมีประมาณ 8 พันแห่ง และเนื่องจากหมอที่จบเวชกรรมแพทยสภายังไม่มีวุฒิบัตร ในส่วนของคลินิกเสริมความงาม จึงพยายามทำประกาศเพื่อระบุว่ามีด้านใดบ้างก่อนมาให้บริการประชาชน

30-23

 

ส่วนตัวเลขการจับกุมสถานพยาบาลกลุ่มเสริมความงามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2555 มีการจับกุมและดำเนินคดี จำนวน 18 คดี, ปี 2556 จำนวน 12 คดี และปี 2557 จำนวน 5 คดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขการจับกุมจะลดลงแต่ความน่ากลัวจากการทำศัลยกรรมไทยปัจจุบัน คือคุณภาพที่เริ่มไม่ได้มาตรฐาน เพราะหมอที่มีฝีมือมีคุณภาพและผ่านการฝึกอบรมมาอย่างถูกต้องมีจำนวนไม่พอ ทำให้หมอจบใหม่ที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่หมอเฉพาะทางหันมาเปิดร้านและที่ยิ่งร้ายแรงกว่านั้นคือหมอเถื่อนที่มีเยอะเป็นเงาตามตัวของความนิยมในการทำศัลยกรรม ซึ่งถึงแม้หมอเถื่อนส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เคยทำงานในวงการศัลยกรรม เช่น พยาบาล พนักงาน ผู้ช่วยพยาบาล แต่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ผ่านการฝึกมาอย่างจริงจังและครบถ้วน ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว

เพราะผลที่ตามมาติดๆคือ คนอยากสวยหล่ออาจได้รับอันตรายมาแทนที่ความสวยความหล่อ เนื่องจากโอกาสผิดพลาดมีสูง และเมื่อไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ว่าเมื่อผิดพลาดแล้วจะแก้ไขอย่างไร

ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งน่ากลัวไม่แพ้กันคือตัวเลขสถานพยาบาลที่ถูกจับกุมที่ถึงแม้จะลดลงในปี 2557 แต่สิ่งหนึ่งที่ตรงกันข้ามคือเหยื่อที่ได้รับอันตรายจากการทำศัลยกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2556 ถึงประมาณ 10 เท่า และจุดนี้นี่เองที่สะท้อนให้เห็นว่าเกิดจากหมอเถื่อน ที่หลุดรอดการจับกุม โดยเฉพาะการควบคุมหมอเถื่อนและการแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องดึงตำรวจเข้ามาร่วมในการจับกุมด้วย

ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับการเตรียมออกหลักสูตร และกฎหมายในการควบคุมการทำศัลยกรรม เพื่อให้ได้แพทย์ผู้ให้บริการรักษาที่มีความรู้และความชำนาญอย่างแท้จริง เพราะจะอย่างไรก็ตาม เรายังมั่นใจว่าวิชาชีพหมอ ต้องถึงพร้อมด้วยจิตใจที่ดี มีเมตตา หวังให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มากกว่าจะมุ่งหวังเพียงเรื่องเงินทอง หรือลาภ ยศ โดยเฉพาะจากการหากินจากเรื่องความสวยความงามบนเรือนร่างมนุษย์

แต่สิ่งหนึ่งที่ทีมข่าวสาธารณสุขไม่อยากให้มองข้ามคือ 2 ชีวิตที่ต้องสังเวยเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในปี “ม้าพยศ 2557” น่าจะเกินพอแล้ว และน่าจะถึงเวลาที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความจริงจังกับวงการศัลยกรรมอย่างเด็ดขาดเสียที

คงไม่มีใครอยากให้ “ปีแพะมงคล 2558” ต้องมีเหยื่อศัลยกรรมเกิดขึ้นให้สังคมเศร้าสลดซ้ำซาก!!!

ขอขอบคุณ Thairath

เรื่องน่าสนใจ