ที่มา: dodeden

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ประปรายในประเทศไทยและอาเซียน การตรวจจับและวินิจฉัยโรคทำได้รวดเร็วขึ้น

โดยตั้งแต่นี้เป็นต้นไปทุกศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 14 ศูนย์ พร้อมตรวจซิกาไวรัสด้วยวิธี Real time RT PCR ใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง รองรับแห่งละ 50 test ต่อวัน ส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจได้วันละ 200 test อีกทั้งเมื่อพบเด็กคลอดแล้วสงสัย ให้ส่งตรวจด้วยเทคนิคเดียวกัน

zika

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า เมื่อตอนต้นปีประชาชนได้ร่วมมือรณรงค์อย่างดี ดัชนีลูกน้ำยุงลายจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 10 ทำให้ไข้เลือดออกลดลง แต่ช่วงนี้ฝนตกดัชนีลูกน้ำยุงลายกลับเพิ่มเป็นร้อยละ 30 อีกดังนั้นหากประชาชนร่วมมือกันดูแลบ้านตนเอง เราจะควบคุมทั้งซิกาและไข้เลือดออกได้ 

สำหรับไข้ซิก้าไม่ใช่โรคใหม่ โรคนี้อาการไม่รุนแรงเหมือนไข้เลือดออก สามารถหายเองได้ ที่สำคัญป้องกันได้โดยไม่ให้ยุงกัด ขอความร่วมมือทุกบ้านทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดูแลทุกบ้านได้

ที่ กทม. เราเคยพบตอนต้นปีที่เขตสายไหม ตอนนั้นทุกฝ่ายร่วมกันควบคุม โดยเฉพาะประชาชนทุกคนช่วยกันควบคุมลูกน้ำยุงลาย ทำให้ควบคุมโรคได้ ดังนั้นประชาชนอย่าได้ตระหนก  หากทุกคนร่วมกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง ก็จะควบคุมโรคได้

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ทุกคนทำได้ และได้ผลดีคือการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้ ซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตามมาตรการ 3 เก็บ  คือ“เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ให้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ทันที ที่ผ่านมามีหญิงตั้งครรภ์ 30 รายที่เฝ้าระวัง คลอดแล้ว 6 ราย เด็กทุกรายปกติดี ที่เหลือมีการติดตามดูแลจากเจ้าหน้าที่ และสูติแพทย์ ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

เรื่องน่าสนใจ