หน้าฝน! ระวังไข้เลือดออก

15892065_s

ในช่วงฤดูฝน โรคติดต่อที่พบการแพร่ระบาดได้บ่อยก็คือโรคไข้เลือดออก ซึ่งในผู้ป่วยบางราย โรคนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ 

สำหรับรายการ “ล้ำยุคเรื่องสุขภาพ” ช่วงสุขภาพดีกับพรีม่าในครั้งนี้ เราจะไปพูดคุยกับ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก พร้อมด้วยแนวทางการป้องกันโรคนี้

สาเหตุของไข้เลือดออก

สำหรับประเทศไทยไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่เป็นสำคัญ และมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยไข้เลือดออกเป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกวัย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่จะต้องป่วยเป็นไข้เลือดออกเสมอไป เพราะในบางรายอาจได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่แล้วไม่เกิดโรคได้

ทำความรู้จัก “โรคไข้เลือดออก”

โรคไข้เลือดออก เกิดจากไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี่ 1,2,3 และ 4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค คือ  ยุงลายจะกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก่อน แล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้โรคแพร่สู่คนอื่นๆ ต่อไป ยุงลายนี้มักจะเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ หรือหลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น

อาการของผู้ที่ติดเชื้อเดงกี่มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่ติดเชื้อเดงกี่แล้วไม่มีอาการป่วย เนื่องจากเชื้อเดงกี่มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ และในรายที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ใดมาแล้ว หากติดเชื้อสายพันธุ์เดิมอีกครั้งก็จะไม่ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีก
  2. กลุ่มที่ติดเชื้อเดงกี่แล้วมีอาการป่วยแต่ไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่
  3. กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในรายที่ไปพบแพทย์ช้าเกินไป เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกจะสูญเสียพลาสมาออกไปนอกเส้นเลือดเข้าไปอยู่ในช่องปอด หรือช่องท้อง ซึ่งการสูญเสียพลาสมาเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดแข็งตัวยาก เลือดไหลเวียนไม่พอ มีเลือดออก และช็อกได้ ซึ่งหากไปพบแพทย์ไม่ทันท่วงที อาจทำมให้ถึงแก่ชีวิตได้

ไข้เลือดออก ดูแลได้

  1. เช็ดตัว ร่วมกับให้รับประทานยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็น  ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลถี่กว่าทุก 4 ชม./ครั้ง และไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน หรือยาลดไข้ไอบูโพรเฟน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของภาสะเลือดออก
  2. ดื่มน้ำเกลือแร่ และรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารสีดำหรือแดง เช่น น้ำแดง แตงโม ช็อคโกแลต เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันการสับสนว่าลูกอาเจียนเป็นเลือดหรืออาหาร
  3. ติดตามอาการ ตามคำแนะนำของแพทย์  โดยเฉพาะช่วง 3-5 วัน หลังจากเริ่มมีไข้
  4. หากมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้  ควรรีบพบแพทย์ทันที
  • มีเลือดออกตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ไข้ลดแต่อาการไม่ดีขึ้น
  • อาเจียนมากและปวดท้องมาก
  • ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ
  • ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย กระสับกระส่ายตัวและริมฝีปากเขียวคล้ำ
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย
  •  มีอารมณ์แปรปรวน เช่น  ซึมลง โวยวาย พูดจาหยาบคาย หรือก้าวร้า วทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ขอบคุณที่มา http://www.siphhospital.com/th/news/article-details.php?id=53 และ  http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=195&type=&Lang=th

เรื่องน่าสนใจ