ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ (20 ก.ค.60) ที่ รร.เอเชียแอร์พอร์ต นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา ผอ.รพ. สวนสราญรมย์ เปิดงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชผู้สูงอายุ ระดับชาติ ครั้งที่ 4  ภายใต้หัวข้อ “ความพึงพอใจในชีวิตผู้สูงอายุไทย ยุค Thailand 4.0”

จัดขึ้นโดย รพ.สวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต หน่วยงานที่มีความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชผู้สูงอายุ มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 300 คน ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุขในเขตบริการสุขภาพที่ 11 กทม. ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก และบุคลากรกรมสุขภาพจิต เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดใหม่ๆ ในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชผู้สูงอายุ รวมทั้งสร้างและขยายเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกัน

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาคนตลอด  ช่วงชีวิต โดยมอบให้ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ มหาดไทย การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ และสาธารณสุข บูรณาการทำงานร่วมกันให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยช่วงวัยสูงอายุ กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 3S ประกอบด้วย Strong ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง

กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ เน้นส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่ยังไม่ป่วย ให้มีพฤติกรรมสุขภาพดี พัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุให้มีความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย รพ.สต.มีการบริการสุขภาพผู้สูงอายุในระดับปฐมภูมิ จัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพแบบครบวงจร

รวมทั้งการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว Security ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ เน้นสนับสนุนการประกันรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุ ส่งเสริมพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองทางสังคมเพิ่มขึ้น และ Social Participation ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบ เน้นการส่งเสริมพัฒนาชมรมผู้สูงอายุคุณภาพผ่านกลไกองค์กรชุมชน และศาสนา ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบการบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นศูนย์การเรียนรู้คุณภาพต้นแบบ ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการ ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) เพื่อบรรลุเป้าหมาย  “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม” สามารถดูแลตนเองได้ ดำรงชีวิตประจำวันได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564  คนไทย ยุค 4.0 มีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี เท่ากับ  69 ปี ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ 3S & 5 Smart ได้แก่ Strong Health, Security, Social Paticipation และ 5 Smart : Smart walk, Smart Brain & Emotional, Smart eat, Smart sleep, Smart Integrated community care

ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรโลกที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 มีผู้สูงอายุจำนวน 10.7 ล้านคน คาดการณ์อีก 8 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

การที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองย่อมเสื่อมถอยลง ความสามารถในการทำงานย่อมลดน้อยลงไป รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตลดลง

โดย กรมสุขภาพจิตกำลังดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุไทยอย่างเป็นระบบ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อได้มีแนวทางในการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตผู้สูงอายุต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในยุค 4.0 ผู้สูงอายุไทยสามารถสร้างความสุขความพึงพอใจในชีวิตให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ด้วยการยอมรับและปรับตัวให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใช้ชีวิตอยู่อย่างพอดี และมีคุณค่า ยึดหลัก 5 สุขในการดำเนินชีวิต

ได้แก่ สุขสบาย ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงคล่องแคล่วตามสภาพ ไม่ใช้สารเสพติด สุขสนุก ทำกิจกรรมที่ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส ลดความซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวล สุขสง่า มีความพึงพอใจในชีวิต ภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง มีความเห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม สุขสว่าง คิดและสื่อสารอย่างมีเหตุมีผล แก้ไขปัญหาและจัดการสิ่งต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สุขสงบ  รับรู้ เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมและจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น สามารถผ่อนคลายและปรับตัวยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง

สำหรับ ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคสมองเสื่อม ที่พบประมาณ ร้อยละ 8 หรือราว 8 แสนคน (จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2557,สวรส.) และโรคซึมเศร้า ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งจากรายงานของฐานข้อมูลการบริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีผู้สูงอายุป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับบริการ 75,564 คน  มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ถึงร้อยละ 1.17

และเพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ กรมสุขภาพจิตจึงได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการ เน้นการเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ โรคเรื้อรัง โรคซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อม แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุกลุ่มป่วย (ผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ, ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า) ให้เข้าถึงบริการและได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

ด้วยการพัฒนารูปแบบและองค์ความรู้ในการดูแลและจัดการภาวะสมองเสื่อมและโรคซึมเศร้า รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุในการคัดกรองและเฝ้าระวัง ตลอดจนประเมิน/คัดกรอง/ดูแลช่วยเหลือทางสังคมจิตใจแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต

โดยเครือข่าย สธ. ใน รพช./รพท./รพศ.  ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ (โรคเรื้อรัง, ติดบ้าน, ติดเตียง) ได้รับการดูแล ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแล ให้มีทักษะในการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและการเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลช่วยเหลือ พัฒนารูปแบบการป้องกันภาวะสมองเสื่อม

ตลอดจนมีระบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและให้การดูแลช่วยเหลือทางสังคมจิตใจ  และ ผู้สูงอายุกลุ่มดี ในชมรมผู้สูงอายุ ให้ได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิต ความสุข 5 มิติ ร่วมกับหลัก WLWL (Walking Laughing Working Learning) ด้วยการจัดกิจกรรม ความสุข 5 มิติ พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นแกนนําในการจัดกิจกรรม

ตลอดจนพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุในตําบลจัดการสุขภาพ ซึ่งมีอยู่ 7 พันกว่าแห่ง  โดยใช้กลไกของ อสม. รพ.สต. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาช่วยกันวางระบบดูแลสุขภาพจิตชุมชนร่วมกัน ตั้งแต่การตรวจเยี่ยม ประเมิน คัดกรอง วินิจฉัย และส่งต่อการรักษา ใน รพ.เฉพาะทางได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

เรื่องน่าสนใจ