ที่มา: dodeden

ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2560 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้จัดโครงการหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค สร้างหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดีในชุมชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ (28 กรกฎาคม 2560)  นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไทยเจ็บป่วยและตาย ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีความห่วงใยประชาชน จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษา มหาวชิราลงกรณ: หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยกองสุขศึกษากรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 จนปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องมีเป้าหมายในการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคจำนวน2,550 หมู่บ้าน และได้ขยายการดำเนินงานไปสู่ตำบลจัดการสุขภาพ สามารถสร้างหมู่บ้านต้นแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคได้ 116 หมู่บ้าน

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาพระราชทานโล่รางวัลให้กับหมู่บ้านที่เป็นต้นแบบ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่หมู่บ้านต้นแบบเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคให้กับหมู่บ้านอื่นต่อไปโครงการดังกล่าวมีกลยุทธ์ด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการส่งเสริมให้ชุมชนและหมู่บ้านพัฒนาให้เป็นชุมชนหรือหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคโดยชุมชนภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นพี่เลี้ยงร่วมผลักดัน ส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องตลอดมา

นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวต่อว่า ลักษณะหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคต้องมีถนนหรือสถานที่สำหรับออกกำลังกายมีแหล่งน้ำที่สามารถใช้ในการเพาะปลูกเช่นสระคูคลองหนองบึงมีการปลูกผักปลอดสารพิษกินเองมีช่องทางการสื่อสารสุขภาพมีแหล่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

และมีการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประชาชนมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง โดยกินผักและผลไม้สด วันละอย่างน้อยครึ่งกิโลกรัม หรือกินผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายที่ถูกต้องตามเกณฑ์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5  วันๆ ละอย่างน้อย 30 นาที

มีการจัดการความเครียด และลดละเลิกการสูบบุหรี่และสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในหมู่บ้านมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องทำให้มีสุขภาพดี ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ได้

เรื่องน่าสนใจ