ที่มา: TNN24

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเตือนการ live สดการฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์ หรือ Facebook Live เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นว่า จากการปรากฏเป็นข่าวหรือกล่าวถึงในโลกสังคมออนไลน์เฉลี่ยเดือนละ 1 – 2 ราย ซึ่งการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ไม่สามารถที่จะตัดต่อได้หรือเซ็นเซอร์ได้ในขณะออกอากาศ หากมีผู้ติดตามจำนวนมากย่อมส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (copycat suicide) หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตาย และหากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย หากได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมากทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งหากพบเห็นภาพเหล่านี้ต้องรีบยับยั้งอย่าแชร์หรือบอกต่อและไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต 

ขณะที่สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย จากฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายของคนไทยโดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์พบว่า มีแนวโน้มค่อยๆสูงขึ้น โดยล่าสุดปี 2558 คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือทุกๆ 2 ชั่วโมงคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า

ส่วนปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายพบว่า เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์โดยเฉพาะปัญหาความรักความหึงหวง ที่ทำให้เกิดการทำร้ายตนเองมากที่สุดถึงร้อยละ 20 รองลงมาคือโรคซึมเศร้าและน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย และพบว่าการดื่มสุราเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทำร้ายตนเอง

ทั้งนี้ แนวทางป้องกันในระดับบุคคลโดยพื้นฐานหลักแล้วคือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจเพื่อทำให้จิตใจสงบมากขึ้น รวมทั้งการฝึกสติ ฝึกสมาธิ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ตลอดจนขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ครอบครัว ชุมชน และสังคมต้องสื่อสารดีต่อกัน ตลอดจนเอาใจใส่กันและกันปัญหาการฆ่าตัวตายป้องกันได้และทุกคนช่วยได้

เรื่องน่าสนใจ