ที่มา: doctor

เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม

ภาพ joellady

ปีกมดลูกอักเสบ เป็นอาการที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในบรรดาสตรีที่มีอาการปวดท้องน้อย มักเข้าใจว่าเป็นอาการอักเสบ

ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม ( www.dodeden.com )  รายงานว่า อาการปวดท้องน้อยเป็นอาการที่พบบ่อยในสตรี ต้องแยกโรคที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ

download

เช่น อวัยวะระบบทางเดินอาหาร อาจเป็นลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ อวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่นการเป็นโรคของกระเพาะปัสสาวะหรือมีการอักเสบของท่อไต) ปวดกล้ามเนื้อหน้าท้อง เส้นเอ็น ผิวหนัง

นอกจากนี้ อาการปวดท้องน้อยอาจร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง แต่อาการปวดท้องน้อยอันเกิดจากอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน เกิดขึ้นบ่อยและมีหลายสาเหตุ

เช่น พังผืดในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอก หรือเป็นการปวดประจำเดือนหรือภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่พบบ่อยคือการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น

การอักเสบในอุ้งเชิงกรานเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดท้องน้อย พบไม่บ่อย แต่บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักถูกวินิจฉัยว่าปีกมดลูกอักเสบเกินความเป็นจริงไป และกินยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเป็นการติดเชื้อบริเวณมดลูก รังไข่ และท่อรังไข่ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อผ่านขึ้นมาทางช่องคลอดและปากมดลูก หรือบางรายเกิดจากการติดเชื้อมาตามกระแสเลือด อาจจะมีแหล่งเชื้อโรคมาจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น

ปีกมดลูกอักเสบส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง เชื้อโรคที่พบบ่อยคือ เชื้อหนองใน รองลงมาคือเชื้อคลาไมเดีย ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการตกขาวและปวดท้องน้อย

ถ้าอาการไม่มากแพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน แต่ถ้าเป็นมาก มีการติดเชื้อรุนแรง หรือมีอาการปวดรุนแรง จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้รับยาปฏิชีวนะชนิดยาฉีด

อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยอาจต้องแยกจากภาวะฉุกเฉินอื่นๆ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่แตกหรือบิดขั้ว ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัด

ภาวะอื่นๆ เหล่านี้บางทีอาการคล้ายคลึงกันมากแพทย์เองก็อาจจะตรวจแยกโรคได้ยากในเบื้องต้น การตรวจพิเศษและการเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องสามารถวินิจฉัยได้ในเวลาต่อมา 

ปัจจุบันนี้ยาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพดีสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างกว้างขวาง บางครั้งอาจมีการดื้อยาหรือยาที่ให้ไม่ได้ผล อาจจะเปลี่ยนยากลุ่มใหม่ให้ตรงกับชนิดของเชื้อ

โดยได้ผลจากการเพาะเชื้อและทราบชนิดของเชื้อที่เป็นต้นเหตุก่อโรคตัวจริง แต่บางรายเป็นโพรงหนองหรือถุงหนองรังไข่ที่รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดเพื่อกำจัดโพรงหนองหรือถุงหนองรังไข่ออกจากร่างกาย

โรคปีกมดลูกอักเสบมักจะรักษาหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานชนิดเรื้อรังหรือเพราะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หรืออาจจะเป็นเชื้อที่ก่อโรคในลักษณะเรื้อรังได้ อาจจำเป็นต้องรักษานาน

ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ คือ พังผืดในอุ้งเชิงกราน ซึ่งพบได้บ่อยหลังการติดเชื้อ และมักพบด้วยกันเสมอกับการติดเชื้อชนิดเรื้อรัง ซึ่งการเป็นพังผืดแม้ว่าภาวะติดเชื้อจะหายไปแล้วแต่ก็อาจจะมีอาการปวดท้องน้อยเนื่องจากพังผืดได้เป็นระยะๆ เวลาที่มีการรั้งบริเวณมดลูกหรือปีกมดลูก

เช่น การเคลื่อนไหวทำงาน การมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่ปวดมากขณะมีประจำเดือน ผู้ป่วยบางรายอาจทรมานถึงกับต้องผ่าตัดเพื่อเลาะพังผืดออก

แต่อย่างไรก็สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเพราะพังผืดเกิดจากการผ่าตัดภายในช่องท้องหรือภายในอุ้งเชิงกรานได้ด้วย การผ่าตัดรักษาจึงขึ้นอยู่กับความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่เป็นมากหรือเรื้อรังจำเป็นต้องหาภาวะที่มีความอ่อนแอของร่างกายหรือภูมิต้านทานต่ำร่วมด้วย

เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด (เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคเอดส์ วัณโรค เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นควรมีการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ

เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น การตรวจหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากคู่สมรสก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาไปในขณะเดียวกันด้วย

 เช่นเดียวกับกรณีวันแห่งความรักที่เกิดขึ้นทุกปี ผู้เขียนอยากเตือนให้ระมัดระวังการมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เพราะนอกจากจะตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว อัตราการทำแท้งและอันตรายจากการทำแท้งเถื่อนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การทำแท้งเถื่อนอาจทำให้มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ สาเหตุจากเครื่องมือการทำแท้งไม่สะอาด และเชื้อที่ก่อโรคจากการทำแท้งด้วยเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมอาจพบว่าเป็นเชื้อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยเองมักจะมาพบแพทย์ช้า รักษาไม่ทันกาลถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

เรื่องน่าสนใจ