ที่มา: https://dodeden.com

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่าวันนี้ (3 กันยายน 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน การดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมเมืองต่างเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ต้องแข่งขันกับเวลาในทุกกิจกรรม ทำให้หลายคนไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพ หรือมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม

จนมีจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  ( Non-Communicable Diseases:NCDs )เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ซึ่งโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ต่างก็เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดและหากควบคุมอาการได้ไม่ดีจะทำให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมา จึงมีผู้อาศัยความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และญาติ แอบอ้างตนเป็นหมอเทวดารักษาสารพัดโรค ชักชวนประชาชนให้รับบริการรักษาพยาบาลจากตน

ซึ่งการกระทำดังกล่าว นับว่าเป็นอันตรายอย่างมากเพราะการรักษาพยาบาลด้วยเทคนิคการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแผนไทยดั้งเดิมนั้น จะต้องกระทำโดยผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากรับการรักษาพยาบาลโดยบุคคลที่มิใช่แพทย์ ซึ่งขาดความชำนาญและมีกระบวนการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายของตัวผู้ป่วยรวมทั้ง ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้โรคลุกลาม หรืออาการกำเริบจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ทั้งนี้ กรม สบส.ขอย้ำเตือนให้ประชาชนทุกคน พิจารณาอย่างรอบด้านก่อนเลือกรับบริการรักษาพยาบาลไม่ว่ากรณีใดก็ตามขอให้ประชาชนเลือกรับบริการจากแพทย์ และสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นอย่าหลงเชื่อเพียงคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี หรือการโฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรคให้หายขาด โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต, โรคทางจิตเวช, โรคความดันโลหิต, โรคทางสมอง หัวใจและหลอดเลือด และโรคเอดส์

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถรักษาอาการของโรคข้างต้นให้หายขาดได้ จึงให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หากอยู่ใน กทม.ให้แจ้งมาที่กรม สบส.ทาง เฟซบุ๊ค “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข” หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18830 (กลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์) ในวันและเวลาราชการ แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย ก่อนรับบริการรักษาพยาบาลต้องตรวจสอบหลักฐาน และศึกษาให้แน่ชัดว่าสถานพยาบาลดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยให้สังเกตหลักฐาน 5 ประการที่สถานพยาบาลจะต้องแสดง ประกอบด้วย 1.มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ป้ายด้านหน้าสถานพยาบาล 2.มีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ และอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย 3.ใบชำระค่าธรรมเนียมสถานพยาบาลเป็นปีปัจจุบัน  4.มีป้ายแสดงอัตราค่าบริการชัดเจน พร้อมมีจุดให้สอบถามอัตราค่าบริการ และ5.มีการแสดงป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่หน้าห้องตรวจ-รักษา

และเพื่อความมั่นใจให้ตรวจสอบชื่อสถานพยาบาล ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (http://www.mrd.go.th/mrd/) โดยพิมพ์ชื่อสถานพยาบาลให้ถูกต้อง ระบบก็จะแจ้งให้ทราบทันทีว่าสถานพยาบาลดังกล่าวได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เรื่องน่าสนใจ