ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ (19 มิถุนายน 2560 ) นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการที่ อย. ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับดีท็อกซ์เท้าทางเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และมีการอวดอ้างสรรพคุณ ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการท้างานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ

อีกทั้งยัง ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยอาการการเจ็บปวด เมื่อยล้า  ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงเวลากลางคืน ด้วยวิธีการปิดที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอนนั้น

เมื่อเทียบเคียงกับการวินิจฉัยประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีวิธีการใช้และมีการกล่าวอ้างผลที่เกิดต่อร่างกาย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน อย. สันนิษฐานเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตาม พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ 2551

โฆษณาที่ปรากฏในเว็บไซต์ และ โซเชี่ยลฯ   ทาง อย.จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ดังนั้น หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานดังกล่าวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการอนุญาต ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และการโฆษณา แต่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับ ดีท็อกซ์เท้าชนิดนี้ ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียน และขออนุญาตโฆษณาจากทาง อย.

ซึ่งขณะนี้ อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่ามีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์หรือไม่ พร้อมกับดำเนินการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้โฆษณา ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

สำหรับผู้บริโภคขอให้ระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อร่างกายของ ตนเองได้

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรณีดังกล่าวเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต  มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดง คุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประกอบการอย่างมีคุณธรรม อย่าโฆษณา ด้วยวิธีต่าง ๆ ในลักษณะที่เกินความเป็นจริง และหากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างในลักษณะดังกล่าวผ่านทาง ช่องทางสื่อต่าง ๆ หรือสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

เรื่องน่าสนใจ