อารมณ์เครียดก่อโรค เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักและเข้าใจดีอยู่แล้ว เพราะหลายคนประสบด้วยตนเองทั้งนั้น การรู้สึกเครียดและไม่สบายใจ จะทําอะไรก็ไม่ดีไปซะหมด แม้แต่สุขภาพร่างกายของเราเอง

 

อารมณ์เครียดก่อโรค
ภาพจาก : firstbeat.com

 

ภาวะความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จากสาเหตุ ต่างๆ เช่น การงาน ความเจ็บไข้ได้ป่วย มีปัญหาเรื่องครอบครัว ปัญหาเรื่องเงิน สภาพเศรษฐกิจและสังคม แม้แต่การอยู่เฉยๆ ก็ยังรู้สึกเครียดขึ้นมาได้เอง เจ้าความเครียดนี่แหละ ตัวอันตราย วายร้ายอันดับต้น ๆ ของสาเหตุความทรุดโทรมของสุขภาพร่างกาย และจิตใจของเรา

 

อารมณ์เครียดก่อโรค ภัยร้ายอันดับต้นๆ ของวัยทำงาน

อาการที่เกิดจากความเครียด มีมากมายเหลือเกิน เช่น คนที่เครียดมากๆ มักมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องไส้ปั่นป่วน หัวใจเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก มือเท้าเย็น อาการเหล่านี้จะหายไปเอง เมื่อเรารู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียดลงไป

ชนิดของความเครียด

ความเครียดที่เกิดขึ้นทันที
และร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกัน โดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไป ร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิม ฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ เช่น ความเครียดที่เกิดจากเสียง อากาศเย็นหรือร้อน ชุมชนที่คนมากๆ ความกลัว ตกใจ หิวข้าว หรืออันตราย เป็นต้น

 

อารมณ์เครียดก่อโรค

 

ความเครียดเรื้อรัง
เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวัน และร่างกายไม่สามารถตอบสนอง หรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น เมื่อนานวันเข้า ความเครียดนั้นจะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง เช่น ความเครียดที่ทํางาน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเหงา เป็นต้น

ขณะที่เราเกิดความเครียดนั้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า cortisol และ adrenaline ฮอร์โมนนี้ จะทําให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อฮอร์โมนถูกนําไปใช้ ก็จะค่อยๆ ลดหายไปเอง เช่น การวิ่งหนีอันตราย เป็นต้น แต่โดยมาก มักจะเกิดขึ้นระหว่างทํางาน หรือมีเรื่องกลุ้มใจบางอย่าง ความกดดันต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และจะสะสมฮอร์โมนชนิดนี้ในร่างกาย จนต้องแสดงผลออกมา ทั้งทางร่างกายและจิตใจนั่นเอง

••••••••••••••••••••••••

เพราะฉะนั้น เราทุกคนสามารถเกิดความเครียดภายในจิตใจกันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร มองโลกในแง่บวก เดินออกไปสูดอากาศ คุยกับคนที่เราไว้ใจและพร้อมให้คำปรึกษา ในอีกมุมหนึ่ง ความเครียดก็มีประโยชน์เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกเครียดเล็กน้อย โดยไม่มากซะจนกดดันตนเอง จะช่วยกระตุ้นการทํางานของร่างกายได้ เช่น ความกระตือรือร้น ความตื่นเต้น การรู้สึกได้ปลดปล่อยอารมณ์เก็บกดบางอย่าง เป็นต้น สรุปแล้ว ความเครียดให้ทั้งคุณและโทษ อยู่ที่เราจะสามารถควบคุมได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ