อาลัยสมเด็จพระสังฆราช “พระของประชาชน“ สิ้นพระชนม์แล้ว

pra1

เวลา 20.35 น. วันที่ 24 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 9 เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง และ ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้วเมื่อเวลา 19.30 น. ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

สำหรับประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เกิดวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุก พระองค์ในอดีต และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี

pra2

pra3

เรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราช ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เด็กชายผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นในตระกูล “คชวัตร” ณ ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำแคว ในหมู่บ้านรุ่งสว่าง บนถนนปากแพรก ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นบุตรชายคนโตของนายน้อย คชวัตร ปลัดอำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม และนางกิมน้อย ทำอาชีพตัดเสื้อ นามว่า “เจริญ” มีน้องชายคลานตามกันออกมาอีก 2 คน

ขณะที่มีอายุได้ 9 ปี เด็กชายเจริญต้องสูญเสียบิดา ทำให้ครอบครัวลำบากมาก จึงย้ายไปอยู่ในอุปการะของ “ป้ากิมเฮง” ผู้เป็นพี่สาวแม่

เด็กชายเจริญสุขภาพไม่ สู้ดีนัก เจ็บป่วยออดแอดเป็นประจำ จนมีการไปบนบาน หากหายจากความเจ็บป่วยจะบวชเป็นสามเณร หลังศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 5 จากโรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ไม่รู้ว่าจะไปศึกษาต่อที่ไหน จึงหันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ มุ่งศึกษาพระธรรม และบวชเณรแก้บนที่ติดค้างไว้

เมื่ออายุ 14 ปี บุตรชายคนโตของตระกูลคชวัตร ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์) เจ้าอาวาส ซึ่งเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดเหนือ” เป็นพระอุปัชฌาย์

นับแต่นั้นเป็นต้นมาสามเณรก็เดินบนเส้นทางแห่งธรรมโดยไม่หันกลับมาสู่ทางโลกอีกเลย

เด็ก ชายที่ถือกำเนิดจากบ้านคชวัตรเป็นครอบครัวที่ใจบุญสุนทานมีศรัทธามั่นคงใน พระพุทธศาสนามักจะชอบเล่นเป็นพระหรือเล่นเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนาเช่นเล่นสร้างถ้ำก่อเจดีย์เล่นทอดผ้าป่าทอดกฐิน เล่นทิ้งกระจาด แม้ของเล่นก็ชอบทำของเล่นที่เกี่ยวกับพระ เช่น ทำคัมภีร์เทศน์เล็ก ๆ ตาลปัตรเล็ก ๆ

นิสัยที่แปลกอีกอย่าง คือชอบเล่นเทียน จนป้าต้องหาเทียนมาให้จุดเล่น บางครั้งนั่งเล่นเทียนส่องดูเปลวเทียวจนสว่าง กระทั่งได้ครองเพศบรรพชิต

70 กว่าปีต่อมา ใครเลยจะคาดคิดว่าเณรน้อยจากลุ่มแม่น้ำแควจะได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ทรงรับพระราชทานพัดยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษ คือ “สมเด็จพระญาณสังวร” เป็นพระองค์ที่ 2 เช่นเดียวกับ สมเด็จพระสังฆราช(สุก) เป็นระยะเวลากว่า 152 ปี

60 ปี บนเส้นทางธรรม จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำศาสนากว่า 20 ปี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ได้สมบูรณ์ครบถ้วนในฐานะประมุขฝ่ายสงฆ์ ผู้นำทางจิตใจเป็นศูนย์กลางแห่งบวรพระพุทธศาสนา

pra4

pra5

แม้การบรรพชาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะเริ่มต้นจากการบวชแก้บน แต่ก็ทรงอยู่ในความปกครองของหลวงพ่อวัดเหนือ ทรงปฏิบัติรับใช้หลวงพ่อ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เรียนรู้การต่อเทศน์ จนขึ้นเทศน์ปากเปล่าให้ญาติโยมฟังในโบสถ์คืนวันพระ ขณะที่ยังเป็นสามเณร

จากนั้นได้เริ่มเรียนบาลี ไวยากรณ์ ที่วัดเสน่หา กระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2472 หลวงพ่อวัดเหนือได้พาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เดินทางมากรุงเทพฯ พาไปเข้าเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯทรงพระเมตตารับไว้ ประทานนาม ว่า เจริญ สุวฑฺฒโน ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงบันทึกเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ของพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ

ตอนหนึ่งบันทึกว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ นั้น ทรงมีพระเมตตาต่อภิกษุสามเณรทั่วไป โดยเฉพาะสามเณรที่มาจากบ้านนอก ดูจะมีพระเมตตาเป็นพิเศษ ทรงฝึกให้สามเณรอ่านหนังสือพิมพ์ หากสามเณรรูปใดอ่านไม่คล่อง หรือไม่ถูก ก็จะทรงอ่านให้ฟังเสียเอง

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ รับสั่งให้เอากระดาษรองข้างในขวด แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่เข้าพระทัย เอากระดาษไปรองก้นขวด พอทอดพระเนตรเห็นเข้าก็รับสั่งว่า “เณรนี่ก็โง่เหมือนกัน” แล้วก็ทรงทำให้ดู

ส่วนความดีพระทัย ที่ปรากฎในบันทึกระบุว่า “ไม่มีปีใดที่ให้ความสุขกาย สุขใจมากเท่ากับคราวที่สอบ ป.ธ.3 ได้” จากนั้นทรงมุ่งมั่นศึกษาเรียนประโยค 4 แต่กลับสอบตก ด้วยเหตุที่ว่า ทรงละเลยเรื่องง่าย ๆ ทรงรู้สึกเสียใจและท้อแท้ใจมาก พอคิดทบทวนและไตร่ตรองดู ได้พบความจริงด้วยพระองค์เองว่า

“การสอบตกนั้นเป็นผลของความประมาท ความหยิ่งทนงในความรู้ของตนเองมากเกินไป คิดว่าสอบได้แน่ ไม่พิจารณาให้รอบคอบ ด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว จึงทำข้อสอบผิดพลาดมาก มุ่งแต่คาดคะเนหรือเก็งข้อสอบเท่านั้น”

นับแต่นั้นมาทรงศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เรียนภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษ พอเป็นพื้นฐานให้พระองค์ทรงศึกษาต่อ จนพูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยละเลยเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติในคณะธรรมยุตที่ว่า”ภิกษุสามเณร พึงปฏิบัติสมาธิ”

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็ทรงพระเมตตา ทรงมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในโอกาสสำคัญ ๆ

ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 15 วัน ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาล

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงสร้างผลงานในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา การปกครอง การสั่งสอน เผยแผ่ การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ และการสาธารณสงเคราะห์

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงประกาศเมตตาจิตของผู้จัดตั้งหรือจัดทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนทั้งหลายว่า

“กรุณา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นปราศจากทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่น ก็พลอยหวั่นใจสงสาร เป็นเหตุให้คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน สิ่งที่เป็นเครื่องเปลื้องช่วยบำบัดทุกข์ภัยทั้งหลาย เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น ล้วนประกาศกรุณาของท่านผู้สร้าง”

ด้วยภารกิจมากมาย แต่ภาพที่ประชาชนจดจำภาพสมเด็จพระสังฆราชได้เป็นอย่างดี คือ การมีชีวิตประจำวันสามัญเฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป ทว่าเปี่ยมไปด้วยพลังที่นำตนไปสู่ความเป็นผู้เจริญดี และผู้เจริญพร้อม

“พระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างหนึ่งที่เป็นคุณอย่างยิ่งแก่ผู้ปฏิบัติ คือ ทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันไม่ให้อาลัยอดีต ไม่เพ้อฝันถึงอนาคต” นี่คือคำสอนของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) ผู้ทรงกล่าวถึงภูมิหลังชีวิตที่เป็น “มนุษย์” หรือเป็น “คนธรรมดาสามัญ” ที่ไม่เคยทรงเห็นว่าเป็นเรื่องเร้นลับที่ต้องปิดบังอะไร

pra6

และ ทรงให้โอวาท “ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด” ว่า

“ใจของเราทุกคนนี้สำคัญนัก สติก็สำคัญนัก ปัญญาก็สำคัญนัก ทั้งหมดนี้ไม่ควรแยกจากกัน มีใจก็ต้องให้มีสติ ต้องให้มีปัญญา ต้องให้มีกรุณา ประคับประคองกันไปให้เสมอ อย่าให้มีสิ่งอื่นนอกจากสติปัญญา และเมตตากรุณาเข้ากำกับใจ”

 

ขอบคุณเนื้อหาโดย ประชาชาติธุรกิจ

เรื่องน่าสนใจ