dr.jetsda2

เคลียร์ประเด็นที่น่าสงสัย และเป็นที่สนใจต่อกระแสสังคมเสมอ สำหรับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ล่าสุดได้ออกมาพูดถึงประเด็น การใช้กล่องโฟมเพื่อใส่อาหาร ที่ดราม่ากันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผ่านทางเฟซบุ๊ค Jessada Denduangboripant ว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นขยะที่ย่อยสลายได้นั้นเห็นด้วย โดยข้อความที่โพสต์ทั้งหมดดังนี้

“กล่องโฟม ไม่ได้อันตรายจากสไตรีน ต่อสุขภาพ”

หลังจากประเด็นเรื่องจับปรับถ้ามีคนใช้มือถือในปั๊มน้ำมันแล้ว สงสัยเรื่องต่อไปที่ผมคงได้โต้แย้งกับภาครัฐอีก ก็เรื่องที่จะห้ามใช้กล่องโฟมใส่อาหารเนี่ยแหล่ะครับ เพราะเห็นทั้ง สคบ. ทั้งกรมอนามัย ออกมาผลักดันกันใหญ่

สาเหตุหลักก็ด้วยการอ้างว่า ถ้าใช้กล่องโฟมใส่อาหารแล้ว มันจะอันตรายต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ …. คือถ้าบอกว่าใช้แล้วจะเป็นขยะที่ทำลายยาก รีไซเคิ้ลยาก ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ถ้าอ้างเรื่องสุขภาพนี่ มันไม่ใช่แล้ว

กล่องโฟมหรือภาชนะโฟมที่เราใช้กันนั้น เรียกว่าเป็น โพลีสไตรีน ซึ่่งเป็นโพลีเมอร์ของสารสไตรีนโมโนเมอร์มาเรียงต่อกัน … สารสไตรีนโมโนเมอร์เดี่ยวๆ นั้น ถูกต้องว่าถ้าร่างกายได้รับเข้าไป จะเป็นอันตรายได้หลายอย่าง แต่เมื่อมันมาจับกันเป็นโพลีสไตรีนแบบกล่องโฟมแล้ว มันจะเสถียรสูงมากกกก มีคุณสมบัติทนทาน เบา เอามาเป่าขึ้นรูปง่าย ทนกรดทนด่างได้ดี ทนความร้อนดี-ไม่ละลาย-แต่อาจจะบิดเสียรูปทรงไป … จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก และได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์กรทางอาหารทั่วโลก

ถ้าจะห่วงเรื่องว่ากล่องโฟมมันจะมีสารสไตรีน มันก็อาจมีได้บ้างเฉพาะที่หลงเหลือมากับการผลิต ซึ่งตามมาตรฐานการผลิตแล้ว เค้าก็ควบคุมกันให้มีน้อยมาก ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนที่กลัวว่าเวลาใช้ๆ ไป จะมีสารสไตรีนออกมามั้ย มีงานวิจัยว่าถ้าเอาโฟมโพลีสไตรีนไปทำแก้วใส่น้ำร้อนๆ ก็จะมีสิทธิที่ทำลายพันธะทางเคมีให้สารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาได้ แต่พบว่าน้อยมากๆๆ เพียงแค่ประมาณ 1 ในพันเท่าของเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น

บางคนบอกว่า เวลากล่องโฟมโดนน้ำมัน อย่างพวกน้ำมันปลา หรือแม้แต่หยดน้ำกลิ่นแมงดาสังเคราะห์ เห็นมันละลายเลย … คือถูกแล้ว มันคือการละลายเข้าหากันของตัวโพลีสไตรีนเข้าไปอยู่ในกรดไขมันหรือเอสเทอร์พวกนั้น แต่ไม่ใช่การสลายพันธะเพื่อให้เกิดสไตรีนโมโนเมอร์อันตรายขึ้น

สุดท้ายคือ ผมงงๆ ว่าเค้าเอาข้อมูลจากไหนมาบอกว่ากินทุกวัน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้น 6 เท่า … ผมหาที่มาอ้างอิงของเค้า่ไม่ได้ ยกเว้นแต่ที่อ้างชื่อคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าท่านขายกล่องอาหารชานอ้อย อย่างนี้ก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ความน่าเชื่อถือน้อยลง

ปล. ถ้าคิดแบบเดียวกัน อย่างนี้ผมก็ต้องกลัวกล่องอาหารชานอ้อยด้วยซิ ว่าเดี๋ยวกาวที่ใช้ขึ้นรูปกล่อง หรือสารฟอกขาวที่ใช้ฟอกชานอ้อย มันอาจจะตกค้างและออกมาในอาหาร กินไปเป็นสิบปีต้องอันตรายแน่เลย (ซึ่งมันก็ไม่ได้จะเป็นอย่างนั้นนะ)

ปล. หวังว่า ก.สาธารณสุข คงจะไม่ได้ออกประกาศห้ามใช้ขึ้นมาจริงๆ ไม่งั้นผู้ประกอบการกล่องโฟมภาชนะโฟมเค้าเดือดร้อนอย่างไม่ยุติธรรมแน่ๆ

ปล.เพิ่ม … กรณีเรื่องอาหารที่มีน้ำมันร้อน อย่างไข่เจียว ที่ละลายกล่องโฟมได้ ผมไม่คิดว่ามันทำให้เกิดสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาครับ คือมันจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพต่อเมื่อมีสไตรีนเดี่ยวๆ ออกมาจากสายโพลีสไตรีนได้มากพอ น้ำมันที่ร้อนขึ้น ก็ช่วยให้โพลีสไตรีนละลายดีขึ้นแค่นั้นเอง ไม่ได้แปลว่าจะมีสไตรีนโมโนเมอร์ออกมามากขึ้น และที่เราตกใจเห็นมันเป็นรูกัน ก็เพราะพอมันเริ่มละลาย มันก็จะหดตัวอย่างรวดเร็วเลยดูเป็นรูใหญ่ ทั้งๆ ที่มีน้ำมันติดแค่นิดเดียวก็ได้แล้ว

เรื่องน่าสนใจ