ที่มา: dodeden

ถือเป็นเรื่องราวดีๆ  ที่ช่วยเหลือสังคม กับโครงการรับบริจาคยาเก่า ซึ่ง นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ระบุไว้ว่า โครงการรับบริจาคยาเก่าได้การตอบรับที่ดี  อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของโรงพยาบาลอุ้มผางไม่ได้ต้องการให้คนไข้ใช้ยาให้เหลือเพื่อเอามาบริจาค แต่ละโรงพยาบาลต่างต้องการให้คนไข้กินยาให้ครบ ให้ตรงตามที่กำหนด

ถ้ากินยาให้ตรง ก็จะไม่มียาเหลือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไข้มักจะลืมกินยาบ้าง กินยาไม่ตรงบ้าง เมื่อมียาเหลือไม่ได้ใช้อยู่แล้ว แทนที่จะทิ้งไปหรือปล่อยให้ยาหมดอายุ ก็เอากลับคืนมาใช้ประโยชน์

“คนไทยเราทิ้งยาที่ไม่ได้ใช้ โดยเฉพาะยาที่บ้าน ปีละเป็น 1,000 ล้านบาท ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยให้ยาหมดอายุ มันเหมือนทิ้งไปเฉยๆ โรงพยาบาลที่ขาดแคลนยา ขาดงบประมาณในการซื้อยา ก็ไม่อยากเบียดเบียนเอาเงินมาซื้อยาเพิ่มหรอก

เราเอายาที่อยู่ตามบ้านมาใช้ก็ได้ มันไม่ได้เสีย ยังใช้ได้ จำนวนยาที่ผมได้รับบริจาคมายังเป็นแค่ 1% ของยาที่สูญเสียไปทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าโรงพยาบาลอื่นช่วยกันบริจาคยามาด้วยก็จะยิ่งดีใหญ่” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ขณะเดียวกัน การรับบริจาคยา ยังเป็นการช่วยกำจัดยาบางส่วนที่หมดอายุด้วย เพราะยาตามบ้านที่หมดอายุก็เป็นสารเคมี ถ้าทิ้งตามขยะทั่วไปก็จะกลายเป็นการปนเปื้อน

เช่น ยาฆ่าเชื้อ ถ้าไปปนเปื้อนในขยะทั่วไป อาจเกิดเชื้อดื้อยาขึ้น ฉะนั้นการส่งยาหมดอายุมาให้ โรงพยาบาลก็จะกำจัดโดยการเผาด้วยความร้อนสูง ซึ่งเป็นการกำจัดที่ถูกต้องตามวิชาการ

ด้าน เภสัชกร สิรวิชญ์ พันธนา เภสัชกรชำนาญการ ( ด้านเภสัชกรรมคลินิก ) เปิดเผยกับเว็บไซต์โดดเด่นดอทคอมว่า สำหรับโครงการลักษณะนี้ หากมีเภสัชกรที่เชี่ยวชาญ และผู้เชี่ยวชาญอื่นที่เกี่ยวข้องควบคุมโครงการอยู่ก็สามารถดำเนินการได้ครับ เพราะเภสัชกรจะต้องจัดการ ควบคุม และดูแลความปลอดภัย ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ตั้งแต่กระบวนการรับยาเข้ามาไปจนกระทั่งการคัดแยก แล้วส่งต่อเพื่อนำไปใช้ หรือทำลาย

โดยเฉพาะการพิจารณายาเสื่อมคุณภาพ ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ภายนอกที่เห็นว่าสภาพดี ยังไม่หมดอายุ แต่ต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาและองค์ประกอบอื่นด้วยครับ ซึ่งยาที่อยู่ในสภาพดีและยังไม่หมดอายุนี้ อาจจะเสื่อมคุณภาพ ก็ได้

เช่น ยาที่เคยถูกเก็บไว้บนรถยนต์ เนื่องจากยาเหล่านี้ถูกเก็บที่อุณหภูมิสูงมาก่อน หากนำไปใช้นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังอาจเกิดอันตรายได้ครับ

เรื่องน่าสนใจ