ที่มา: matichon

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงกรณีตำรวจทำการจับกุม นายเซเดนิก ไฟยเฟอร์ อายุ 50 ปี สัญชาติเช็ก ในฐานะเป็นอาชญากรข้ามชาติ ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

โดยมีข้อมูลว่านายฟรายเฟอร์มีพฤติการณ์แพร่เชื้อเอชไอวีให้กับผู้ชายและหญิงไทย ว่า เบื้องต้นทราบว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้แล้ว ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจแพร่เชื้อเอชไอวีแก่ผู้อื่น ต้องรอการตรวจสอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ สามารถติดต่อได้ 3 ช่องทางหลักคือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  กล่าวว่า สำหรับคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชายคนดังกล่าว หากเพิ่งมีเพศสัมพันธ์ภายใน 1-2 วันนี้ สามารถไปพบแพทย์เพื่อแจ้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาเพร็พให้กิน ซึ่งยานี้จะต้องกินภายใน 24-48 ชั่วโมงภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย กินต่อเนื่อง 28 วัน จากนั้นจึงควรตรวจเลือดว่ามีเชื้อหรือไม่ หากไม่มีก็สามารถหยุดกินยาได้ ซึ่งยาตัวนี้เป็นยาตัวเดียวกับที่เวลาบุคลากรทางการแพทย์เกิดอุบัติเหตุถูกเข็มตำหรือกรณีถูกข่มขืน ซึ่งจะได้รับยานี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจงใจแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่นถือเป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่ นพ.สุเมธ กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดทางกฎหมายที่แน่ชัด แต่เบื้องต้นทราบว่าในทางกฎหมายไม่มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การจงใจแพร่เชื้อเป็นความผิด แต่หากมีการฟ้องร้องก็น่าจะเป็นคดีอาญา การพิจารณาน่าจะดูจากเจตนาว่ามีความจงใจหรือไม่

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเอาผิดผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นว่า สำหรับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไม่ครอบคลุมเอาผิดผู้ติดเชื้อรายนี้

เพราะพ.ร.บ.ฯ จะครอบคลุมในเรื่องของโรคติดต่อเฉียบพลัน อย่างกรณีโรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หากผู้ป่วยจงใจแพร่เชื้อให้แพทย์ แบบนี้เอาผิดได้ แต่กรณีผู้แพร่เชื้อเอชไอวี ไม่เคยมีมาก่อน

เครดิต จาก มติชน

เรื่องน่าสนใจ