ที่มา: matichon

นางณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับ วันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้แรงงาน เรื่อง “คุณภาพชีวิตแรงงานไทย” 1,250 ตัวอย่าง

เกี่ยวกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของการทำงานในด้านต่างๆ และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย พบว่า ผู้ใช้แรงงานมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตการทำงานเท่ากับ 7.41 ด้านที่มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจมากที่สุดคือ ด้านเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมอาชีพ 7.88

รองลงมา ด้านลักษณะงานที่ทำ ตรงกับความต้องการ 7.73 ด้านสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ (สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ) 7.53 ด้านผู้บังคับบัญชา หัวหน้างาน ( หรือผู้มารับบริการ กรณีทำอาชีพอิสระรับจ้าง ) 7.40 ด้านความสมดุลระหว่างการทำงาน การพักผ่อน และชีวิตส่วนตัว 7.38 ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ (เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา สิทธิประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ) 7.06 และด้านความมั่นคง โอกาส และความก้าวหน้าในอาชีพ 6.89

สำหรับความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในภาพรวมของการทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่า ผู้ใช้แรงงาน 34.08% ระบุว่า ดีขึ้น 42.24% เหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง และ 23.68% แย่ลง

ด้านความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยในปัจจุบัน ภายหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ปี 2558 พบว่า ผู้ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่ 39.04% ระบุว่า ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก รองลงมา 28.40% แรงงานไทยถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าวในแถบอาเซียนเพิ่มมากขึ้น 15.76% แรงงานไทยไม่ได้รับการพัฒนา ขาดการเอาใจใส่ หรือให้ความสำคัญ 8.80% แรงงานไทยได้รับการพัฒนาด้านภาษา ฝีมือ ทักษะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน 6.08% ระบุว่า แรงงานไทยมีโอกาสได้ไปทำงานในแถบประเทศอาเซียนมากขึ้น 0.64% งานหายากมากขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของแรงงานต่างด้าว และค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า แรงงานไทยมีความมั่นคงและสวัสดิการที่ดีขึ้น และได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และ 1.28% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 50% ระบุว่า ควรพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รองลงมา 42.08% ควรหมั่นตรวจสอบ ควบคุม ดูแล บริษัท ผู้ประกอบการ นายจ้าง ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน

หรือเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ 39.52% ควรปรับปรุง หรือแก้ไขข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สิทธิ สวัสดิการต่างๆ ที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน 34.24% ควรส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านความรู้ ฝีมือ ให้กับแรงงานไทย 32.64% ควรเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมการมีงานทำ การจัดหางาน การออกบูธประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน 26.24% ควรเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว 1.20% อื่นๆ

ได้แก่ ควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ลดค่าครองชีพ เร่งจัดหาแหล่งที่ดินทำกินให้กับผู้ที่ไม่มีอาชีพ ควรมีการช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับผู้ที่ปลดเกษียณหรือมีรายได้น้อย และควรกระจายแรงงานไปยังภูมิภาคต่างๆ

เรื่องน่าสนใจ