“โอม…ชานติ…ชานติ….ชานตี” คือเสียงที่เราได้ยินตลอด 3 วันของการจัดงาน  “ไทยแลนด์โยคะเฟส 2014 (Thailand Yoga Fest 2014)”  ที่ผ่านมา ซึ่งมีสาวกโยคะทุกเพศทุกวัยตบเท้าเข้าร่วมงาน โดยมีแกนนำคนสำคัญอย่าง “แอม-ชญาดา มาตรเจริญ” บรรณาธิการบริหารนิตยสารโยคะเจอร์นัล ประเทศไทย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเล่นโยคะเพื่อการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ เป็นแม่งาน

19

 

ไทยแลนด์โยคะเฟส 2014 จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้คอนเซปต์   “บี ออริจินัล (Be Original)” ซึ่งนำเอาความรู้และเทคนิคแห่งศาสตร์โยคะจากถิ่นแก่นกำเนิดในเมืองฤาษีเกศ ประเทศอินเดีย มาให้ผู้รักการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพด้วยโยคะ ได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้ว “โยคะ”

 ไม่ใช่แค่เรื่องของความแข็งแรง และท่าทาง (Pose) เพียงเท่านั้น  โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การเชิญ “โยคี” ผู้สอนโยคะจากเมืองฤาษีเกศ มาร่วมสอน พร้อมกับอาจารย์โยคะที่มีชื่อเสียงของไทยรวมกว่า 20 ท่าน จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้ยินการ “โอม” ซึ่งเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาในอินเดีย ได้แก่ฮินดู ซิกข์ เชน พุทธ การโอมจะกระทำก่อนเริ่มและจบการเล่นโยคะ เพราะถือเป็นการแผ่เมตตาให้แก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับ

25

นางมารตี ราโอ ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศอินเดีย ในฐานะตัวแทนจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานครั้งนี้ กล่าวว่า “โยคะ แม้ว่าจะมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่ก็ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และได้มีการดัดแปลง หรือพัฒนาให้เข้ากับวิถีของแต่ละถิ่นที่นำไปฝึก ในนามของประเทศอินเดีย รู้สึกดีใจที่มีการจัดงานนี้ขึ้น

โดยส่วนตัวเป็นคนที่ฝึกโยคะอยู่แล้ว จนทำให้รู้ว่าโยคะไม่ใช่แค่การฝึกฝนทางกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกจิตฝึกสมาธิที่ดีมาก จากเมื่อก่อนเป็นคนจิตใจว้าวุ่น แต่พอหลังจากฝึกแล้วรู้ว่าจิตใจสงบขึ้นค่ะ”

13 (2)

คุณแอม-ชญาดา มาตรเจริญ บรรณธิการบริหารนิตยสารโยคะ เจอร์นัล กล่าวว่า “คนทั่วไปจะคิดว่าการฝึกโยคะต้องแข็งแรง ต้องตัวอ่อน จึงจะเล่นได้ เราจึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ยังไม่เคยลองเล่นโยคะได้มาสัมผัสว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ นั้น คือจิตของเรา และลมหายใจของเรานั่นเอง การกำหนดลมหายใจ หรือปราณที่ถูกต้อง ตามแบบวิถีของฤาษีเกศจะทำให้เราฝึกโยคะได้ง่ายขึ้นค่ะ เราจึงเชิญโยคีจากฤาษีเกศมาแนะเทคนิคตรงนี้ให้กับผู้ที่มาร่วมงาน”

ตลอด  3 วันของการจัดงาน มีคลาสโยคะสำหรับผู้ฝึกตั้งแต่ระดับบิกินเนอร์ (Beginner) ไปจนถึงระดับแอดวานซ์กว่า 30 คลาส โดยครูฝึกทั้งชาวไทยและอินดีย อาทิ ดร. วิดวะพาว จายาส, มาสเตอร์นาวีน โจซี่, ดร. ยูวา ดายารัน, มาสเตอร์แซนดีฟ ซิง,  ครูอัตมา จันนัดดา กีริ, มาสเตอร์สุรินเดอร์, ครูอมิตตำ, ครูสถิต กิ่งวงษา, ครูจิมมี่ ยุทธนา พลเจริญ, ครูประนอม เรืองขจร และครูหนิง ธิญาดา คอนเควสท์ ฯลฯ

03 (3)

คลาสที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นพิเศษ คือ คลาส “ลมปราณะ (Prana Power)” สอนเรื่องการหายใจการใช้ลมปราณในการเล่นโยคะอย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักพื้นฐานของการเรียนโยคะ เนื่องจากลมปราณจะเป็นตัวนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวส่งผลให้เลือดลมสูบฉีด กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน อวัยวะและต่อมต่างๆ ในร่างกายทำงานได้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

ต่อมาคือคลาส “วินยาสะ (Vinyasa)” ซึ่งเป็นคลาสที่เน้นความหลากหลาย และค่อนข้างฟรีสไตล์ตามครูผู้สอน โดยคลาสนี้ได้รับเกียรติจาก ครูจิมมี่-ยุทธนา พลเจริญ กูรูโยคะชื่อดังจากประเทศไทย ร่วมสอน “วินยาสะ เป็นการนำท่าพื้นฐานต่างๆ ของการเล่นโยคะ มาร้อยเรียงเข้าด้วยกันและผสานกับการควบคุมลมหายใจ เน้นการเคลื่อนไหวที่ช้า ดังนั้นวินยาสะ จึงถือเป็นคลาสที่มีความหลากหลาย ทำให้ผู้เล่นไม่เบื่อ”

ส่วนคลาส “หัฐโยคะ (Hatha)” สำหรับผู้ที่เพิ่งหัดเล่นโยคะ จะเน้นความแข็งแรงความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลังและข้อต่อ พร้อมช่วยระบบหมุนเวียนโลหิต ปรับสมดุลร่างกาย ช่วยบำบัดและบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี

รวมถึงคลาส “อัษฎางค (Ashtanga)” สำหรับคนสมาธิสั้นและต้องการสร้างความแข็งแรงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะเน้นการกำลังความแข็งแรงของร่างกาย โดยผู้สอนคลาสนี้คือ ดร. ปาระวิ (Dr. Palavi) ครูโยคะชื่อดังจากเมืองฤาษีเกศ

04 (2)

“ความพิเศษของการเล่น อัษฎางค นอกจากจะได้บริหารร่างกายแล้ว ยังเป็นการบริหารสมาธิของตนเอง และผลลัพธ์ที่ได้คือทำให้เกิดความร้อนในการช่วยขจัดของเสียที่สะสมอยู่ในส่วนต่างๆ  ของร่างกายออกมา”  ส่วนคลาสอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กันทั้ง คลาส กุณฑาลินี (Kundalini) คลาสโฟลว์ (Flow) คลาสศิวะนันทะ (Shivananda) เป็นต้น

นอกจากนี้ในงาน “ไทยแลนด์โยคะเฟส 2014” มีการกิจกรรมต่างๆ มากมาย ให้บรรดาสาวกโยคะได้ร่วมสนุก อาทิ การประกวดแข่งขัน “โยคะโพส (Yoga Pose)” การสร้างสรรค์ท่าโยคะที่แสดงถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา และหลัง

การประกวดภาพถ่าย “โยคะ เอฟรี่แวร์ (Yoga Everywhere)” การโพสท่าโยคะในสถานที่ต่างๆ รวมถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับโยคะ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ร่วมกว่า 50 ร้านค้า พร้อมทั้งบริการนวดคลายกล้ามเนื้อ

และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้คือการร่วมประกอบ พิธีอารตี หรือ พิธีบูชาไฟ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญ เปรียบเสมือนการไหว้ครูของผู้เล่นโยคะ ซึ่งชาวฤาษีเกศจะเรียกว่าเป็น Ceremony of Lights  พิธีกรรมการขอพรจาก  องค์พระศิวะ องค์เทพผู้ก่อกำเนิดวิชาโยคะ ให้ทรงมอบความสุขและความโชคดีให้แก่ผู้ที่บูชาและผู้ปฎิบัติ

ตลอดการจัดงาน 3 วัน มีสาวกผู้รักในศาสตร์โยคะทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมงานกว่า 3,000 คน ทำเอาสถานที่จัดงาน  สถาบันเมคเฟรนด์ โยคะ   อาคารเคซีซี ดูแคบลงไปถนัดตา

คนรักสุขภาพและเหล่าบรรดาสาวกโยคะที่ชื่นชอบความเป็น “ออริจินัล” เตรียมตัวพบกันใหม่ในปีหน้า หรือหากใครที่อยากทดลองเรียนโยคะกับโยคีจากประเทศอินเดียก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่  เมคเฟรนด์ โยคะ เพราะที่นี่นำโยคีมาสอนถึงเมืองไทย โดยไม่ได้ต้องไปไกลถึงอินเดีย

17

ที่มา โดดเด่น 

 

 

เรื่องน่าสนใจ