ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับ นายลี คี ฮึม เลขานุการเอกและกงสุล สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยที่กรมสบส.ว่า การหารือกันครั้งนี้ นายลี คี ฮึม ได้แจ้งว่ามีชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก

โดยให้ความสนใจสอบถามข้อมูลนโยบายของรัฐบาลไทยที่ขยายเวลาหรือขยายวีซ่าพำนักระยะยาว ( Long Stay Visa ) ในราชอาณาจักรไทย ในโครงการเมดิคัลฮับของประเทศไทย ที่ขยายจากเดิม 1 ปี เป็นเวลา 10 ปี เพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นมิตรหรือลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน ซึ่งไม่ใช่เข้ามาประกอบอาชีพในไทย ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้น

จากการหารือครั้งนี้ทางประเทศเกาหลีใต้ได้แสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมโครงการขยายระยะเวลาพำนักของไทยด้วย โดยจะได้จัดทำหนังสือเป็นทางการมายังกรมสบส. หลังจากนั้นกรมสบส.จะนำข้อเสนอนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวว่า การขยายวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี ดำเนินการในลักษณะการเข้าออกได้หลายครั้ง (Multiple Entry) โดยการขอวีซ่าครั้งแรกจะพำนักได้ 5 ปี และต่ออายุได้อีก 5 ปี  ต้องรายงานตัวผ่านสำนักตรวจคนเข้าเมืองของไทยทุก 90 วัน ขณะนี้ดำเนินการแล้วกับชาวต่างชาติใน 14 ประเทศ

ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยุโรปได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แคนาดา สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น อยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการด้านกฎหมายของหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ครอบคลุมชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในระยะยาวในประเทศไทยด้วย คาดว่าจะเปิดระบบให้ใช้การได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข 8 ประการ ดังนี้ 1.ต้องเป็นชาวต่างชาติ อายุ50 ปีขึ้นไป 2.มีเงินฝากในบัญชี 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อเดือน 1 แสนบาทโดยการต่ออายุวีซ่าครั้งที่ 2 จะต้องแสดงจำนวนเงินฝากในบัญชีหรือรายได้ต่อเดือนเท่าเดิม 3.วีซ่า 1 ครั้ง อายุ 5 ปี ครั้งที่ 2 อีก 5 ปีรวมเป็น 10 ปี

4.แสดงเอกสารประกันสุขภาพระยะเวลาในการคุ้มครอง 1 ปี ซึ่งกำหนดวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ในกรณีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กรณีผู้ป่วยในไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กรมธรรม์ต่อ 1 ปี และจะต้องมีเอกสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตลอดอายุของวีซ่า 5.ต้องคงบัญชีเงินฝากตามที่แสดงไว้ในธนาคารตามกฎหมายของไทยเป็นอย่างน้อย 1 ปี นับจากวันที่ได้วีซ่า

หลังจากนั้นจึงจะสามารถถอนเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 พร้อมแสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศไทยเท่านั้น เช่น รักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ยานพาหนะ และการศึกษาบุตร 6.สามารถนำคู่สมรสอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มาขออยู่ได้เช่นเดียวกัน โดยยื่นเอกสารเงินฝากในประเทศและรายได้ต่อเดือน หากคู่สมรสอายุไม่ถึง 50 ปี สามารถขอใช้วีซาประเภทอยู่ชั่วคราว (non-immigrant )รหัส O

ส่วนบุตรตามกฎหมายอายุไม่เกิน 21 ปี สามารถติดตามครอบครัวมาศึกษาในประเทศไทยได้ โดยใช้วีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราวเช่นกัน รหัส ED 7. มีสิทธิ์ในการซื้อคอนโดมิเนียม และยานพาหนะในไทย และ8.สามารถทำงานในลักษณะของจิตอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทนได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน นายแพทย์วิศิษฎ์กล่าวในตอนท้าย 

เรื่องน่าสนใจ