ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัย มีโครงการและนโยบายที่จะใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นประโยชน์ด้วยการจัดพื้นที่ให้เป็น “ตลาดนัด” ที่นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าให้มีที่ขายของแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็ได้เปิดโอกาสให้กับเหล่านักศึกษาที่ต้องการจะหารายได้พิเศษ สามารถนำของมาขายภายในตลาดนัดของมหาวิทยาลัยได้ด้วย

557000015183801

 

ตลาดนัดของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงของอร่อยๆ ขึ้นชื่อมากมาย หากใครว่าง หรืออยู่ใกล้มหาวิทยาลัยไหน ก็ลองไปเดินเที่ยวชม ชอป ชิม ชิลล์ กันได้ตามอัธยาศัย กับ “10 ตลาดนัดในมหาวิทยาลัย” ที่คุณไม่ควรพลาด ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย…

1. ตลาดนัดวันศุกร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใครที่เคยผ่านไปแถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องไม่พลาดที่จะไปเดิน ชอป ชิม ตลาดนัดวันศุกร์ ที่เปิดให้เหล่านักศึกษาและบุคคลทั่วไปมาเดินชอปปิงซื้อของกันได้เฉพาะวันศุกร์เท่านั้น โดยตลาดนี้ตั้งอยู่ระหว่างตึกจุลฯ และคณะบัญชี แต่จะเน้นขายอาหาร ผักสด ผลไม้ อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป ขนมนานาชนิด นอกจากอาหารแล้วก็มีส่วนของเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ดอกไม้ต้นไม้ และของจิปาถะอีกมากมาย โดยพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายจะเริ่มมาตั้งร้านกันตั้งแต่ช่วงตี 4 แต่เปิดขายจริงจะเป็นเวลา 6.00 น.-18.00 น. แต่ถ้าร้านไหนขายดีก็อาจขายหมดก่อนเวลา บางคนมาช้าผิดหวังอดกินไปก็มี ร้านค้าจัดเป็นรูปตัวยูคว่ำบนทางเท้ารอบลานจอดรถของศาลาพระเกี้ยว แนะนำว่าให้เริ่มสตาร์ทจากทางเท้าด้านซ้ายก่อน ทางเท้าด้านนี้และด้านตรงกลางตรงข้ามคณะวิทยาศาสตร์กว้างมาก มีร้านค้า 2 ด้าน ทั้งทางด้านถนนและด้านลานจอดรถ ส่วนทางเท้าด้านศาลาพระเกี้ยวแคบกว่าจึงมีร้านค้าเพียงร้านเดียว

557000015183802

จุดเด่น : ตลาดนัดวันศุกร์ ที่จุฬาฯ ที่นี่เน้นสินค้าราคาถูก แม่ค้าต้องพูดจาสุภาพ แต่งกายเรียบร้อย เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่และกว้างมาก สินค้ามีความหลายหลาย ตั้งแต่ของแห้ง ผักสด ผลไม้ อาหารคาว-หวาน เสื้อผ้าเครื่องประดับ ของใช้ต่างๆ และยังมีร้านค้าชื่อดังที่มาขายในตลาดนัดวันศุกร์แห่งนี้มากมายหลายร้าน เรียกได้ว่าต่อแถวซื้อกันยาวเหยียด อย่างเช่น ร้านหมูทอดจุฬา ที่อร่อยจนต้องมีเพจส่วนตัว หรือจะเป็นร้านกุยช่ายตลาดนัดจุฬา ที่ต้องบอกว่าของดีมีเดือนละ 5 ครั้ง ต้องรีบไปชิม

และจุดเด่นอีกอย่างคือ ทุกๆ ร้านต้องบอกราคาสินค้าชัดเจน พร้อมทั้งมีป้ายร้านค้าแสดงชื่อ ประเภทสินค้าที่จำหน่าย เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยได้ตกลงไว้กับร้านค้า และไม่มีร้านใดกล้าฝ่าฝืนเนื่องจากจะมีอาจารย์ที่รับผิดชอบตลาด จะส่งคนมาตรวจสอบตลอดเวลา พร้อมกับแต่ละล็อกจะมีชื่อร้านและชื่อเจ้าของร้านค้าชัดเจนว่าขายอะไร เผื่อใครติดใจจะมาอีกวันหลังจะได้จำล็อกถูก

2. ตลาดนัดอินเตอร์โซน : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลาดนัดธรรมศาสตร์รังสิต หรือ ตลาดนัดอินเตอร์โซน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หลายคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณหน้าอาคารอินเตอร์โซน โดยในช่วงแรกเป็นตลาดนัดที่ขายเฉพาะนักศึกษาเท่านั้น ต่อมาเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีรายการโทรทัศน์เข้าไปแนะนำทำให้ ประชาชนก็เริ่มอยากเข้าไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดแห่งนี้ ต่อมาจึงได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปเดินซื้อของได้ โดยตลาดนัดอินเตอร์โซนแห่งนี้เปิดขายวันจันทร์และวันพฤหัสทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เวลา 15.00 – 21.30 น. ช่วงที่คึกคักที่สุดคงจะเป็นตอนค่ำๆ ประมาณทุ่ม หรือสองทุ่ม และตลาดจะวายเอาตอนประมาณ 3 ทุ่ม

ตลาดนัด มธ. รังสิต แห่งนี้มีสินค้ามากมายหลายอย่าง ทั้งเสื้อผ้ามือหนึ่งและมือสอง อาหาร และของเบ็ดเตร็ด แบ่งออกเป็น 2 โซน คือโซนของกิน และโซนแฟชั่น ก็จะมีเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของจุกจิกน่ารักๆ ให้เลือกเดินจับจ่ายกัน ในส่วนของกินก็จะมีอาหารมากมายให้ได้ลองเลือกชิม ทั้งของคาวและของหวาน อย่างเช่น ข้าวหมกไก่ ขนมจีบ ซาลาเปา สุกี้ ยำ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ลาซานญ่า ผักโขมอบชีส หมูมะนาว ทาโกะยากิ เป็นต้น มีทั้งแม่ค้าตัวจริง และนักศึกษามาร่วมกันขายของด้วย บางอาทิตย์ก็จะมีนักศึกษาจากชมรมต่างๆ มาตั้งบู้ท เปิดหมวกขอรับบริจาค หรือประชาสัมพันธ์กิจกรรม รวมไปถึงการแสดงคอนเสิร์ต การแสดงจากชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย หรือจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาสร้างสีสันอีกด้วย

557000015183803

จุดเด่น : เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ มีร้านค้ามาตั้งขายของกว่า 100 ร้านค้า มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยแบ่งโซนชัดเจน เน้นสินค้าถูกใจนักศึกษา ของกินของใช้จึงออกไปในสไตล์วัยรุ่น เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งสยามก็ว่าได้ เต็มไปด้วยสินค้าฮิปๆ แนวๆ ที่สำคัญราคาไม่แพง พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษามีทั้งของทำเอง หรือของที่ใช้แล้วที่เจ้าตัวเอามาขาย และมีการแสดงดนตรีหรือกิจกรรมของนักศึกษาให้ได้ชมอยู่เรื่อยๆ สามารถเดินซื้อของกินจากตลาด มานั่งรับประทานพร้อมร่วมกิจกรรมไปด้วยได้ บางคนมาเดินตลาดนัดที่ มธ. แห่งนี้อาจไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไป แต่การได้เดินชมบรรยากาศได้เหล่พ่อค้าแม่ค้าหน้าใสๆ กับนักศึกษาที่เดินสวนกันไปมาแค่นี้ก็อิ่มใจมากแล้ว

3. ตลาดนัดสิ่งแวดล้อม : มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ตลาดนัดเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่เหล่าคนรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องไปเดินเพราะตลาดนัดแห่งนี้จะเน้นข้าวของเครื่องใช้ที่ปลอดสารพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แถมยังรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าในการจ่ายตลาดอีกด้วย โดยจะเปิดขายกันทุกวันศุกร์ สามารถไปจับจ่ายซื้อสินค้ากันได้ เปิดมาแล้วกว่า 20 ปี เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นโครงการมาจากการที่อธิการบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ต้องการให้นักศึกษามีแหล่งซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน ทั้งอาหารและของใช้ต่างๆ จึงได้จัดโครงการตลาดนัดสิ่งแวดล้อมขึ้นมา และมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือ ต้องเป็นตลาดนัดปลอดสารพิษ ที่สำคัญต้องดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันด้วย ร้านค้าต่างๆ จะอยู่รอบๆ คณะสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนอาหาร โซนเสื้อผ้า โซนร้านอาหารแบบกลับบ้าน โซนอาหารพร้อมปรุง และโซนร้านค้าเบ็ดเตล็ดหลังอาคาร รวมแล้วกว่า 400 ล็อค เปิดขายตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงบ่าย แต่ถ้าไปเดินชอปช่วงเที่ยงๆ คนจะเยอะมาก แนะนำให้ไปช่วงบ่ายต้นๆ จะดีกว่า

557000015183804

จุดเด่น : เป็นตลาดนัดเพื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะกับคนรักสุขภาพ พื้นที่ส่วนใหญ่ของตลาดจะอิงแอบอยู่กับธรรมชาติ ตามคอนเซปตลาดนัดเพื่อสิ่งแวดล้อม บรรยากาศสบายๆ แม่ค้าอัธยาศัยดี เน้นไปที่อาหาร ผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ อีกหนึ่งความโดดเด่นของตลาดแห่งนี้คือ การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และไม่อนุญาตให้ใช้ถุงพลาสติกโดยเด็ดขาด อุปกรณ์การชอปของตลาดแห่งนี้ที่จะต้องมีก็คือ “ถุงผ้า” นั่นเอง

4. ตลาดนัดหน้ากรมประมง : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เนื่องจากพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีการเปิดเป็นตลาดนัดมากมาย เรียกได้ว่าในหนึ่งอาทิตย์จะมีตลาดนัดเกือบทุกวัน แล้วแต่ว่าจะย้ายไปอยู่ส่วนไหนของมหาวิทยาลัย เช่น วันจันทร์ จะเป็นของกรมส่งเสริมการเกษตร, วันอังคาร ของกรมวิชาการเกษตร, วันพุธ ของกรมประมง, วันพฤหัส ของกรมป่าไม้ และวันศุกร์ ของกรมประมง เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดที่มีคนรู้จักมากที่สุด เพราะเคยออกรายการตลาดสดสนามเป้า ทางช่อง 5 ได้พามาเยี่ยมชมที่ตลาดนัดแห่งนี้ อยู่บริเวณด้านหน้าของม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ติดกับถนนพหลโยธิน มีเฉพาะวันศุกร์ ตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาประมาณ 14.00 น.

แบ่งเป็นโซนอาหาร และเสื้อผ้าเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย อาหารหรือขนมก็ทำกันสดๆ ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมตุ๊บตั๊บขึ้นชื่อ ร้านขายขนมถั่วแปปที่มีคนรอต่อคิวซื้อยาวมาก นอกจากร้านค้าเหล่านี้ ก็ยังมีร้านค้า และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้สด สัตว์น้ำสด อาหารแห้ง เสื้อผ้า ขนม อาหารสำเร็จรูป ตลาดนัดกรมประมงแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นวันที่มีของมาขายเยอะที่สุดในบรรดาตลาดนัดประจำสัปดาห์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใครสนใจอยู่ใกล้ๆ ก็อย่าลืมแวะไปเดินชอป และชิม อาหารอร่อยๆ พร้อมสินค้าให้เลือกสรรอีกมากมาย

557000015183805

จุดเด่น : เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ มีของกินของใช้ให้เลือกซื้อมากมาย แหล่งรวมของอร่อยขึ้นชื่อ หรือแม้แต่ของใช้จิปาถะ สมุนไพรต่างๆ และที่สำคัญราคาไม่แพง ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ทำเองขายเอง บางร้านเป็นขนมโบราณที่หาดูและหาชิมได้ยาก ข้อดีของตลาดนัดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั่นคือ มีเกือบทุกวันทำให้นักศึกษา และบุคลากรทั้งในและนอกสถาบันสามารถจับจ่ายซื้อของได้เกือบทุกวันในหนึ่งสัปดาห์ เพียงแค่ย้ายทำเลที่ตั้งไปที่อื่น แต่ก็ยังอยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

5. ตลาดนัดทับแก้ว : มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตลาดมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ หรือ “ตลาดนัดทับแก้ว” ตลาดนัดที่ผู้คนทั้งในและนอกทับแก้วรู้จักกันเป็นอย่างดี ตลาดนัดแห่งนี้มีความเป็นมายาวนานมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นตลาดนัดวันพุธที่จัดขึ้นในภายในมหาวิทยาลัยศิลปากรบริเวณสามแยกเยื้องกับโรงอาหารใกล้กับคณะอักษรศาสตร์ เรียบถนนริมสระแก้ว ยาวตลอดแนวจนข้าวสะพารสระแก้วไปจนถึงบริเวณหน้าคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวก “อาหารและของกิน” เยอะมาก รองลงมาจะเป็นเสื้อผ้าของใช้แฟชั่นสำหรับวัยรุ่น

ทุกวันพุธ จะมีนักศึกษา บุคลากรภายในและนอกมหาวิทยาลัยเข้ามาเดินเล่นจับจ่ายใช้สอยกันที่ตลาดนัดทับแก้วแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาค้าขายกันที่ตลาดนัดทับแก้วแล้ว ยังจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับนักศึกษาได้ทดลองฝึกเป็นผู้ประกอบการบริเวณด้านหน้าข้างศาลาแปดเหลี่ยมที่จัดเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาได้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด ผู้คนจะค่อนข้างแน่นในช่วง 11.30-13.30 น. ถ้าไม่อยากเดินชอปท่ามกลางคนเยอะๆ แนะนำให้ช่วงก่อน หรือหลังเวลาดังกล่าว

557000015183806

จุดเด่น : เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ และมีของกินของใช้มากมายหลายประเภทมากกว่า 200 ร้านค้า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร ผักผลไม้ปลอดสารพิษ นอกจากนี้ยังมีซุ้มหมอดู และเป็นที่น่าแปลกใจคือ มักจะมีนักศึกษาเข้าไปเป็นลูกค้าของหมอดูที่ตลาดนัดทับแก้วแห่งนี้เสมอๆ และจุดเด่นอีกด้านหนึ่งก็คือ ที่นี่จะมีสินค้าเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เช่น นาฬิกาหรือเสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์ของศิลปากร โดยเฉพาะเสื้อที่มีชื่อมหาวิทยาลัยหรือของคณะต่าง ๆ ที่นำมาออกแบบให้มีหลายลวดลายตามแฟชั่นจะเป็นที่นิยมของนักศึกษาอย่างมาก ตลาดนัดในมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเป็นมากกว่าตลาดนัด เพราะเป็นสถานที่รวบรวมกระแสแฟชั่นและความนิยมต่างๆ ของกลุ่มวัยรุ่น เมื่อนักศึกษามาเดินตลาดนัดก็จะได้เรียนรู้ถึงแฟชั่นใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

6. ตลาดนัดนานาชาติ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ตลาดนัดใจกลางเมืองในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่นอกจากจะเรียกว่า “ตลาดนัด มศว. ประสานมิตร” แล้ว ตลาดนัดแห่งนี้ยังมีชื่อเรียกอีก 2 ชื่อ คือ “ตลาดนัดนานาชาติ” เพราะกลุ่มลูกค้ามีความหลากหลายในเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหัวแดง อินเดีย หรือญี่ปุ่น ก็มีให้พบเห็นเป็นประจำ ซึ่งจำนวนก็มีมากไม่แพ้คนไทยเลยทีเดียว ส่วนอีกชื่อหนึ่งคือ “ตลาดแม่บ้านญี่ปุ่น มีที่มาจากที่กลุ่มแม่บ้านชาวญี่ปุ่นมักมาซื้อของที่นี่เป็นจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งสินค้าที่ขายในตลาดก็เป็นของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ทำให้ได้รับฉายานี้มาอย่างไม่ต้องสงสัย ตลาดนัดแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง ตึก 300 ล้านกับ ตึก 400 ล้าน ในมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ ประสานมิตร เปิดบริการทุกวันอังคารและพฤหัสบดี เวลา 06.00 – 16.00 น. มีจำนวนร้านค้าประมาณ 250 ล็อค

ร้านอาหารขึ้นชื่อที่ต้องแนะนำให้ไปชิมว่ากันว่าต้องต่อแถวยาว มาแป๊บเดียวหมดของขึ้นชื่อของตลาดนัด มศว. ประสานมิตรแห่งนี้ก็คือ ร้านขนมตาลแม่พรรณี จากเมืองแปดริ้ว, บะหมี่เป็ดย่าง, ร้านป๊อบคอร์น, ร้านลูกชิ้นทอดที่มีเกี๊ยวทอดขาย และร้านมะม่วง น้ำปลาหวาน กะปิหวาน ถ้ามีโอกาสก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะไปชิม เพราะที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องของกินอร่อย นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายร้าน

557000015183807

จุดเด่น : ถือว่าเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง และมีความหลากหลายมากจนได้รับฉายาว่า “ตลาดนัดนานาชาติ” ดังนั้น ของส่วนใหญ่ที่ขายในตลาดนัดแห่งนี้จึงมีทั้งของกินของใช้วัยรุ่น เพราะมีนักศึกษามาเดินเยอะ รวมถึงของใช้แม่บ้านกลุ่มแม่บ้านอาจสนใจสินค้าจำพวกของใช้จำเป็น ของใช้ในบ้าน หรือคนวัยทำงานก็อาจสนใจสินค้าจำพวกเสื้อผ้าใส่ไปทำงาน หรือของใช้อื่นๆ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย การเดินทางสะดวกเพราะอยู่ใจกลางเมือง ที่สำคัญราคาไม่แพง

7. กาดโก้งโค้ง : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีคนกล่าวไว้ว่า ถ้าต้องการรู้จักวิถีชีวิตของคนเมืองนั้นจริงๆ ต้องไป “ตลาด” เช่นเดียวกับการได้มาเดินเล่นที่ “กาดโก้งโค้ง” ตลาดนัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นโดยคณะเกษตรศาสตร์ จะได้ชมวิถีชีวิตของคนเมืองเหนือในกาด ที่มาของคำว่ากาดโก้งโค้ง คือ “กาด” เป็นภาษาเหนือแปลว่า “ตลาด” ส่วนโก้งโค้ง เป็นกริยาท่าทาง เพราะว่าของที่ขายส่วนใหญ่วางอยู่บนพื้น หรือแคร่เตี้ยๆ สูงจากพื้นเล็กน้อย ผู้ขายนั่งต่ำ ผู้ซื้อจะซื้อสินค้าก็ต้อง “โก้งโค้ง” ซึ่งเป็นลักษณะของตลาดแบบโบราณ และเป็นเอกลักษณ์ของ “กาดโก้งโค้ง” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้นั่นเอง โดยตลาดจะเปิดทำการวันพฤหัสบดี และ ศุกร์ ของสัปดาห์ที่หนึ่งของทุกเดือน ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น.

ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ หน้าภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดขายมานานกว่า 5 ปี สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นเมืองของภาคเหนือ ทั้งอาหารไทย อาหารพื้นเมือง ของฝากขนมไทย-ขนมพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้าน ผลไม้สดๆ ตามฤดูกาล และต้นไม้ดอกไม้ มาวางขายในราคาย่อมเยา

557000015183808

จุดเด่น : กาดโก้งโค้ง เป็นตลาดที่นำเอาจุดเด่นมาเป็นจุดขาย นั่นก็คือ การอนุรักษ์ตลาดเก่าสมัยโบราณ ของใช้พื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของประชาชน โดยมีการซื้อขายแบบดั้งเดิม สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีเอกลักษณ์เฉพาะ ลักษณะการจัดจำหน่าย การแต่งกาย การพูดจาของแม่ค้า พ่อค้าที่เน้นเป็นภาษาท้องถิ่น การใช้ภาชนะที่มีเอกลักษณ์ และเป็นวัสดุท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการใช้โฟม และพลาสติก เน้นการใช้ใบตอง การใช้วัสดุท้องถิ่น การกางร่ม การจุดเทียน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านมาจากนักศึกษามาให้ได้ชมกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ของกาดโก้งโค้ง ที่มีผู้นิยมมาจับจ่ายสินค้ากันเป็นประจำ แม้ปัจจุบันภาพของกาดโก้งโค้งจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะวางขายสินค้าบนโต๊ะแทนการวางกับพื้น เพื่อความสะดวกของทั้งคนขายและคนซื้อ แต่กาดโก้งโค้งก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นเสน่ห์ดึงดูด โดยเฉพาะอาหารและขนมพื้นเมืองที่น่าลิ้มลอง เป็นตลาดนัดกลางแจ้งท่ามกลางต้นไม้ใหญ่เดินชอปปิ้งเพลินๆ ไม่ร้อนจนเกินไป

8. ตลาดนัดเปิดท้าย : มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เป็นตลาดนัดตอนเย็นในรูปแบบตลาดนัดผสมผสานกับการเปิดท้ายขายของ แต่มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อ เช่น ตลาดมอดินแดง ตลาดโรงชาย และตลาดหลังคอมเพล็กส์ (ศูนย์อาหารมข.) ใครถนัดเรียกชื่อไหนก็ได้ไม่ว่ากัน จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริเวณลานจอดรถศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ใกล้กับคณะนิติศาสตร์ จัดขึ้นเดือนละสองครั้ง คือ อาทิตย์แรก และอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน ในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ มีจำนวนร้านค้ามากกว่า 500 ล็อคในตลาดนัดแห่งนี้ โดยสินค้าที่จำหน่ายมีหลากหลายรูปแบบสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า หรือสินค้าแปลกๆ สินค้าทำมือมีให้เลือกจนตาลาย ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เพื่อให้มีการแสดงออกทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะอีสานอีกด้วย บางวันก็มีการเปิดหมวก แสดงดนตรี หาเงินทำค่าย หรือนำไปช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในโอกาสต่างๆ

557000015183809

จุดเด่น : ทางจังหวัดได้ชูให้ตลาดนัดเปิดท้าย มข. แห่งนี้เป็นชุมชนต้นแบบ เนื่องจากสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนส่งเสริมให้คนในชุมชนที่สามารถทำธุรกิจขนาดเล็กเป็นของตนเอง และนำมาขายที่ตลาดแห่งนี้ สินค้าที่จำหน่ายมีหลากหลายรูปแบบมีมีการปิดป้ายแสดงราคาที่ชัดเจน สินค้ามีคุณภาพ มาตรฐาน จึงได้เลือกให้เป็นตลาดนัดต้นแบบ นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่เพื่อให้มีการแสดงออกทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะอีสานอีกด้วย แถมยังเป็นแหล่งฝากท้องสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ใน มข. อีกด้วย มี 2 จุดสำคัญ ได้แก่ ตลาดเปิดท้ายศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ซึ่งจัดขึ้นทุกเสาร์-อาทิตย์ต้นเดือน ตอนเย็นเป็นประจำทุกเดือน และตลาดเปิดท้ายหลังคอมเพลกซ์ซึ่งจัดขึ้นในตอนเย็นทุกวัน สามารถสนุกสนานกับการจับจ่ายซื้อของและเรียนรู้วิถีชาว มข.ได้เป็นอย่างดี ณ ตลาดนัดยามเย็นทั้งสองแห่งนี้

9. ตลาดนัด Bu Market : มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดกำลังซื้อสูง ตลาดหนึ่งเลยทีเดียว เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นที่รู้กันว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ดังนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จึงค่อนข้างมีฐานะ และมีกำลังซื้อสูง ทำให้ตลาดนัดแห่งนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษ ทำเลที่ตั้งอยู่ใต้ตึก Bu Mall (ชั้น G) เปิดขายทุกวันจันทร์ และวันพุธ ตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น. ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อผ้าผู้ชาย กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ เกี่ยวกับเรื่องความสวยความงามเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงสินค้าแฮนเมดที่นักศึกษาทำมาขายเอง ก็เป็นที่นิยม สินค้าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ความต้องการของวัยรุ่นเป็นหลัก

557000015183810

จุดเด่น : เป็นตลาดนัดที่อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องออกไปเดินซื้อสินค้าข้างนอก รวมทั้งมีสินค้าวัยรุ่นที่หลากหลายให้ได้เลือกซื้อกัน รวมถึงของใช้จำเป็นต่างๆ บรรยากาศดีจัดอยู่ใต้ตึกใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นตลาดนัดในร่ม ทำให้ได้บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย เหมาะกับการเดินช้อปปิ้งชิวๆ ของเหล่าบรรดานักศึกษาและอาจารย์เป็นอย่างดี

10. ตลาดนัดร่มไผ่ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

แหล่งชอปปิงใจกลางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ที่ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยได้มาเปิดร้านขายของ เพื่อเป็นการฝึกให้นักศึกษาเป็นผู้บริหารร้านค้าเล็กๆ ของตนเอง โดยตลาดนัดร่มไผ่ จะเปิดทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 17.00 น. มีสินค้ามากมาย แบ่งเป็น 2 โซนด้วยกันคือ โซนเสื้อผ้าข้าวของ ก็จะมี ร้านเสื้อผ้าทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอางสำหรับสาวๆ และสินค้าจิปาถะอื่นๆ และโซนของกิน ที่ขึ้นชื่อมากของที่นี่ เพราะมีแต่ของอร่อย และมีให้เลือกชิมเยอะแยะไปหมด คล้ายกับตลาดนัดทั่วไป และมีโต๊ะม้าหินให้นั่งกินด้วย มีทั้งนักศึกษา บุคลากรทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างเข้ามาอุดหนุนกันอย่างไม่ขาดสาย

557000015183811

จุดเด่น : ตลาดขนาดกลางที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่มีสินค้าให้เลือกมากมาย นอกจากจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของแล้ว ตลาดร่มไผ่แห่งนี้ยังเป็นเหมือนตลาดฝึกหัดที่ช่วยฝึกให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย นำความรู้ในวิชาเรียนมาฝึกปฏิบัติจริงและสามารถสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาด้วย นอกจากนี้นักศึกษายังสามารถจัดการแสดงและกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

ขอบคุณ manager

เรื่องน่าสนใจ