ที่มา: voicetv

ปกติมนุษย์ใช้เวลานอน 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ทุกคนมีโอกาสเกิดการนอนไม่หลับขึ้นได้ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต และร้อยละ 10 พบปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับ โดยพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่ทำงานเป็นกะผลัดเวร เกิดปัญหานอนไม่หลับง่ายกว่างานอื่น

998118

การนอนไม่หลับไม่ใช่โรค แต่เป็นปัญหาการนอนไม่เพียงพอทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดชื่น แต่ละคนอาจมีความรู้สึกต่อการนอนไม่หลับได้หลายแบบ เช่น นอนหลับยากใช้เวลานานจึงจะหลับ นอนหลับไม่สนิท นอนหลับๆ ตื่นๆ นอนเร็วกว่าปกติ สาเหตุของการนอนไม่หลับเกิดได้หลายปัจจัย เช่นความเครียด ภาวะโรคซึมเศร้า สภาพแวดล้อม อยู่ในที่สว่างมาก เสียงดัง ร้อนเกินไป รวมทั้งการทำงานกะดึก

ยานอนหลับไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับ แต่อาจช่วยให้อาการทุเลาลง การใช้ยาต้องใช้ร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ควรใช้ยาขนาดต่ำที่สุด ที่มีประสิทธิภาพเป็นครั้งคราว (ไม่เกิน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์) ไม่ควรใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ติดยาได้ แต่หากใช้ยาติดต่อกันมานาน ควรค่อย ๆ หยุดยา เนื่องจากการหยุดยาอย่างกะทันหันจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับขึ้นอีก และไม่ควรใช้ยานอนหลับในกรณีต่อไปนี้ ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ที่ติดสารเสพติด โดยเฉพาะสุรา ผู้ที่นอนไม่หลับที่สัมพันธ์กับการหายใจ ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคตับ โรคไต และผู้สูงอายุ

Depositphotos_22181099_s

การฝึกพฤติกรรมเพื่อรักษาปัญหาการนอนไม่หลับโดยไม่ใช้ยา มีขั้นตอนดังนี้

1.เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน โดยอยากนอนและตื่นเมื่อถึงเวลากำหนด
2.ลุกจากเตียงทันทีเมื่อตื่น และออกกำลังกายเบา ๆ หลังตื่นนอน 10-15 นาทีก่อนทำกิจกรรมอื่น จะช่วยให้สมองและร่างกายตื่นตัว สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี
3.จัดกิจกรรมผ่อนคลายเป็นประจำช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น ดื่มนมหรือน้ำผลไม้ อ่านหนังสือ 10 นาที หรือฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ตึงเครียดก่อนเข้านอน
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที ช่วงเช้าตรู่หรือตอนเย็น จะช่วยลดความตึงเครียดทางร่างกายและอารมณ์ ช่วยให้หลับเร็วตื่นเร็ว แต่ไม่ควรปฏิบัติช่วงใกล้เข้านอน เพราะจะรบกวนการนอนหลับได้
5.ควรใช้เตียงนอนสำหรับนอน ไม่ควรใช้เตียงนอนทำงาน ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ
6.จัดห้องนอนให้มืด เงียบ สบาย ปลอดภัย มีอากาศถ่ายเทสะดวก ปรับอุณหภูมิที่พอดี จะช่วยให้นอนหลับได้ดี
7.เมื่อเข้านอนนาน 15-30 นาที แล้วยังไม่หลับให้ลุกขึ้นจากที่นอน แล้วทำกิจกรรมซึ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น ฟังเพลงหรืออ่านหนังสือ และกลับมานอนใหม่ เมื่อรู้สึกง่วงนอนเท่านั้น หลีกเลี่ยงการดูทีวี ฟังข่าว เล่นคอมพิวเตอร์ เพราะจะเร้าความรู้สึกตื่นตัวในขณะที่อยากหลับ อย่านอนอยู่บนเตียงโดยไม่หลับจนถึงเช้า เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล
8.ไม่ควรงีบหลับในตอนกลางวัน เพราะส่งผลให้นอนหลับยาก หรือตื่นบ่อยในเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องนอน ไม่ควรนอนนานกว่า 30 นาที
9.หลีกเลี่ยงการใช้สารหรือยากระตุ้นประสาท ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยให้หลับ ไม่ควรดื่มคาเฟอีนเกินวันละ 2 ครั้ง หลีกเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟหลังเที่ยงวัน อย่าสูบบุหรี่ก่อนนอนหรือกลางดึก
10.ไม่รับประทานอาหารมื้อเย็นมาก หรือดื่มน้ำมากก่อนเข้านอน แต่ไม่ควรปล่อยให้หิวก่อนเวลานอน อาหารมื้อเย็นควรเป็นอาหารมื้อเบา ๆ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อหรือโปรตีนมาก ๆ และหากรับประทานอาหารมื้อก่อนนอนด้วย ควรเป็นอาหารเบา ๆ เช่น นม อาหารประเภทมอลต์สกัด หรือน้ำผลไม้
11.ฝึกการผ่อนคลายเพื่อลดการตื่นตัว และลดความคิด เช่น การฝึกหายใจ การฝึกคลายกล้ามเนื้อ

เรื่องน่าสนใจ