พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นพระองค์หนึ่งที่ทรงสนพระทัยอย่างมากในธรรมะและหลายครั้งที่พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้เคยทรงเป็นพระอภิบาลของพระองค์
มักเป็นพระราชวินิจฉัยเรื่องพระธรรมและพระพุทธศาสนา เช่น มีตอนหนึ่งทรงรับสั่งถึงหนังสือคำสอนทางพระพุทธศาสนา ว่า “หนังสือสอนพระพุทธศาสนา ยากเกินไปแก่สมองเด็ก ให้เด็กเล็ก ๆ จำประวัติมากเกินไป” “อย่างสอนอริยสัจแก่เด็กเล็ก ๆ เหมือนจะให้เด็กเป็นพระอรหันต์ จะทำให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร
น่าจะสอนบทธรรมง่าย ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการอบรมเด็กด้วย เช่น ความเพียร และน่าจะจัดเป็นหลักสูตรสูงขึ้นไปโดยลำดับ แทรกพุทธประวัติ นิทานชาดก บทสอนพุทธศาสนา ได้มีจัดไว้ทำนองนี้ น่าจะทำแจกหรือมีจำหน่ายถูก ๆ”
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทูลว่า “จะนำกระแสพระราชดำรินี้ไปจัดทำ แต่การเขียนเรื่องให้เด็กอ่านนั้น เขียนแล้วคิดว่าง่าย เด็กเข้าใจ ครั้งไปลองสอนกับเด็ก คือ ให้เด็กอ่าน เด็กก็ไม่เข้าใจ” เห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงมีพระปณิธานในการนำพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนอย่างง่ายที่สุด
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า ด้วยพระราชปรารภและพระปณิธานของทั้งสองพระองค์ ก่อให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาโดยใช้ภาษาที่เรียบง่ายและงดงาม ทุกคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการอธิบาย เปรียบเทียบคำสอนยาก ๆ ให้ง่ายขึ้นและใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย อย่างเช่น การอธิบายเรื่อง จิต ที่เป็นเรื่องซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก
โดยการเขียนเปรียบเทียบจิตกับเมืองหรือนครที่เราอยู่อาศัย ในหนังสือชื่อว่า “จิตตนคร นครหลวงของโลก” ซึ่งมีการพิมพ์ออกมาหลายครั้ง แต่อาจจะรู้จักกันเพียงในวงการพระสงฆ์ หรือนักอ่านหนังสือของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ เท่านั้น
แต่ความที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงคุ้นเคยกับงานพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงได้คัดเลือกและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์เรื่อง “จิตตนคร นครหลวงของโลก” ในวาระอภิลักขิตสมัยมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระชนมายุครบ๕๐ พรรษา พร้อมกันนี้มีการตีพิมพ์ซ้ำเพื่อเผยแพร่ รวมทั้งน้อมพิมพ์แจกเป็นธรรมปฏิการแก่สาธุชนผู้ตั้งใจมาถวายอภิสัมมานสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อเป็นอนุสรณียวัตถุในพระองค์
อย่างไรก็ดี ช่วงระยะหลังมานี้ศิษยานุศิษย์ในพระองค์ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความพยายามนำพระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชฯ สื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุด
ดังนั้นวิธีการนำเสนอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงคำสอนในพุทธศาสนาง่ายขึ้น ในเรื่องนี้ถ้าได้ศึกษาพระประวัติเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช จะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและคิดวิธีการนำเสนอเรื่องราวใหม่ ๆ ตลอดเวลา
และมียุคหนึ่งที่พระองค์ทรงเคยทำหน้าที่เป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารศรีสัปดาห์ และทรงเคยจัดรายการวิทยุ อ.ส. ภายใต้รายการที่มีชื่อว่า การบริหารจิต ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึง ๒๕๑๕ ซึ่งในรายการดังกล่าว เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ลองนำเสนอคำสอนเรื่อง จิต แนวดรามา เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งปรากฏว่าได้ผลและแล้วสำเร็จออกมาเป็นพระนิพนธ์ที่สมบูรณ์ ที่มีชื่อว่า “จิตตนคร นครหลวงของโลก”
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า การจะนำเสนอพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชฯ ต้องดึงตัวตนของท่านออกมา โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นนี้ ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มจิตอาสากลุ่มหนึ่งที่อ่านพระนิพนธ์ “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และเริ่มทดลองทำเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน เพื่อให้เข้าถึงทุกคนได้ง่าย
นำออกมาฉายให้ประชาชนได้ดู ในงานนิทรรศการของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ปรากฏเสียงตอบรับดีเกินคาด ที่สำคัญที่สุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานเปิดนิทรรศการดังกล่าว ได้รับชมและกล่าวกับทุกคนในงานนั้นว่า เป็นสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องการ
เพราะคนจะได้มีจิตสำนึกในเรื่องความดีความชั่ว จึงเสนอความเห็นว่า น่าจะทำต่อให้จบเรื่อง พร้อมกับได้สั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องรับดำเนินการต่อ
จากการปรารภของท่านนายกรัฐมนตรี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับไปดำเนินการผลิตต่อจนเสร็จออกมาเป็นตอนที่ ๑ ของ ภาพยนตร์การ์ตูน เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร ต่อมาทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับช่วงต่อจนสร้างเสร็จอย่างบริบูรณ์
ประกอบด้วย ๓๐ ตอน ความยาวตอนละ ๒๐ นาที โดยประมาณ ส่วนด้านการเผยแพร่ส่วนหนึ่ง ได้รับความร่วมมือจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ซิป้า ส่วนการเผยแพร่ให้กว้างออกไปอย่างทั่วถึงตามคำปรารภของท่านนายกรัฐมนตรีนั้น ก็จะขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ รวมถึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและพระศาสนาต่อไป
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ซิป้าได้ให้การสนับสนุนการผลิตการ์ตูนแอนิเมชันเมืองนิรมิตแห่งจิตตนครจำนวน ๒๙ ตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนทางพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ได้กรุณาตรวจสอบความถูกต้องและปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับพระนิพนธ์มากที่สุด
พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการออกแบบลักษณะของตัวละคร ซึ่งไม่ได้เน้นแบบไทย เพราะจุดมุ่งหมายไม่ใช่ส่งเสริมวัฒนธรรม แต่ส่งเสริมพระธรรมที่เป็นสากล ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การเผยแผ่จะนำเข้าสู่โรงเรียนทั่วประเทศและมีการจัดกิจกรรมต่อยอดจากแอนิเมชันไปสู่เกม มาสคอต ซึ่งไม่ใช่เพื่อการค้าทางธุรกิจ แต่ทำขึ้นเพื่อความเข้าใจเนื้อหาสาระโดยเฉพาะในเรื่องของธรรมะ พร้อมกันนี้มีแผนการที่จะทำการเผยแผ่การ์ตูนแอนิเมชันชุดดังกล่าวให้เข้าถึงประชาชนทุกคน
โดยการเผยแพร่จะเน้นที่ประเทศไทยก่อน จากนั้นจะขยายไปยังต่างประเทศแปลเป็นภาษาต่าง ๆ สมกับที่กล่าวกันว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลก“คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน หวังว่าแอนิเมชัน“เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร”
จะเป็นชุดที่ย่อยง่ายและหากต้องการเข้าใจให้ลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น พระนิพนธ์จริง ๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ก็อ่านง่ายไม่แพ้กัน อยากให้ทุกคนลองพิจารณาดูเพื่อจะได้นำมาประยุกต์ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
นอกจากนี้เพื่อให้เข้าถึงเยาวชนอย่างทั่วถึง ทางซิป้าได้จัดฉายการ์ตูนแอนิเมชันดังกล่าวในงานวันเด็กแห่งชาติ วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๐ ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ดีจากนี้เชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมกันเผยแพร่เพื่อให้เข้าถึงทุกคน” นายฉัตรชัย กล่าว