นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวถึงกรณีการผลิตเลนส์แว่นตาป้องกันรังสีบลูไลท์ (Blue Light) หรือแสงสีฟ้า ออกมาขายจำนวนมาก หลังมีกระแสการรับแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บแล็ต และคอมพิวเตอร์ ทำให้จอประสาทตาเสื่อม ว่า แว่นตาป้องกันรังสี ทางการแพทย์เรียกว่าเลนส์บลูบล็อก ซึ่งโฆษณาว่านอกจากป้องกัน UV 400 แล้ว ยังป้องกันแสงบลูไลท์ได้ด้วย
ซึ่งเลนส์ดังกล่าวมีราคาสูงกว่าเลนส์ทั่วไป ร้อยละ 30 แต่ยังไม่มีผลการวิจัยที่แน่ชัดถึงผลประโยชน์ที่จะได้ เพราะต่อให้ใส่เลนส์ตัดแสงดังกล่าว แต่หากใช้สายตากับอุปกรณ์เหล่านี้มากๆ โดยไม่พัก ก็ถือว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อสายตาได้เช่นกัน
“มีการพูดถึงว่าการใช้อุปกรณ์ที่ให้แสงสีฟ้ามากๆ จะส่งผลกระทบต่อสายตา หนักเข้าก็อ้างว่าอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ตา ทั้งนี้ ยืนยันว่าแสงบลูไลท์ไม่ได้ส่งผลให้เป็นมะเร็งทางสายตาแน่นอน แต่อาจทำให้เซลล์ประสาทตาเสื่อมได้
นอกจากนี้ แม้ใส่เลนส์บลูบล็อก แต่ใช้สายตามากก็จะทำให้เกิด เทคโนโลยีซินโดรม ตาเมื่อยล้า แห้ง ปวดหัว ปวดต้นคอและไหล่ได้เหมือนกัน แต่หากใช้น้อยก็ไม่ทำให้เซลล์ประสาทตาเสื่อม อย่างไรก็ตาม หากจะใช้สายตานานๆ ควรใช้วิธี ใช้สายตา 25 นาที พักสายตา 15 นาที หรือใช้ 30 นาทีพักสายตา 10 นาที ก็จะช่วยได้” จักษุแพทย์ กล่าว
นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า บลูไลท์เป็นแสงที่มีคลื่นความถี่มากกว่า 400 นาโนเมตร ซึ่งแสงจะทะลุเข้าไปในตา ซึ่งมีแก้วตาดำ เยื่อบุตาขาว และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดต้อกระจก แต่ UV เกิน 400 นาโนเมตร จะเข้าไปทำลายที่เซลล์เรตินาของเซลล์หรือเซลล์ประสาทตาที่จุดรับภาพโดยตรง
โดยเฉพาะหากใช้มากๆ โดยบลูไลท์มักจะพบในจอดิจิตอล LED ซึ่งมาจากแสงไฟ LED เช่น จอโทรทัศน์ หลอดไฟฟ้า โทรศัพท์สมาร์ทโฟนต่างๆ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อใช้อุปกรณ์เหล่านี้นานๆ ก็จะทำให้แสงเข้าสู่เรตินาเซลล์ได้มาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งปัจจุบัน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ว่าเป็นมะเร็ง แต่ความจริงUV เอ และ UV บี ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดมะเร็งนั้น จะทำให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนัง ไม่ใช่ตา จึงถือเป็นความเข้าใจผิด
ที่มา ผู้จัดการ