ชาวฮินดูฉลองเทศกาล “กุมภะเมลา” ซึ่งมีการอาบน้ำชำระบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามหลักความเชื่อทางศาสนา
วันนี้(29ส.ค.58)ผู้นับถือศาสนาฮินดูหลายหมื่นคนหลั่งไหลไปยังเมือง “นาสิก” รัฐ “มหาราษฎร” ทางภาคใต้ของอินเดีย เพื่อร่วมงานเทศกาล “มหากุมภะเมลา” ซึ่งเป็นพิธีการอาบน้ำชำระบาปในแม่น้ำโคทาวารี ซึ่งถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อของศาสนาฮินดู
พิธีอาบน้ำชำระบาปหรือ พิธี “มหากุมภะเมลา” นับเป็นเทศกาลทางศาสนา ที่มีผู้มาร่วมชุมนุมกันมากที่สุด โดยพิธีสำคัญนี้มีต้นกำเนิดมากจากหลักความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ว่า เกิดการต่อสู้กันบนสวรรค์ระหว่างพระวิษณุกับเหล่าอสูร เพื่อแย่งเหยือกทองคำ ซึ่งบรรจุน้ำอมฤต การต่อสู้ดำเนินอยู่นาน 12 วัน ทำให้หยดน้ำอมฤตตกลงมายังโลกมนุษย์ ถึง 4 หยุด โดยหยดหนึ่งตกลงในเมือง อัลลาฮาบัท เมืองหริทวาร อุชเชน และนาสิก
ดังนั้น ในทุกๆ 3ปีจึงมีการจัดเทศกาลมหากุมภะเมลา ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หนึ่งใน 4 แห่งนี้ และที่เมืองอัลลาฮาบัทถือเป็นพิธีที่ มีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด โดยเทศกาลมหากุมภะเมลานี้มีมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว
ด้านทางการอินเดียได้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และความชุลมุนวุ่นวาย ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุเหยียบกันตายเหมือนที่เคยเกิดในระหว่างงานเทศกาลศาสนา ซึ่งมีผู้มาชุมนุมเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา