เป็นอีกธรรมเนียมหนึ่งในพิธีของราชสำนักที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยแด่ผู้ล่วงลับ เป็นการกระทำที่แสดงถึงความอาลัยที่มีต่อเจ้านายที่สิ้นพระชนม์
การมีนางร้องไห้ในราชสำนักสันนิษฐานว่า อาจได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชนชาติ “มอญ” ในประเพณีมอญมีพวกรับจ้างร้องไห้ มีเสียงร้องทำนองโอดครวญ จนนำมาตั้งเป็นชื่อทำนองเพลงว่า “มอญร้องไห้”
“นางร้องไห้” เป็นหน้าที่ของสตรีชาววังมีเฉพาะในงานพิธีพระบรมศพ คัดเลือกมาแต่หญิงที่มีน้ำเสียงไพเราะ ประจำอยู่ใกล้พระบรมโกศ ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อขับร้องบทเพลงคร่ำครวญ ทำนองและเนื้อเศร้าโศกเยือกเย็นชวนให้หลั่งน้ำตา
ประกอบด้วยต้นเสียง 4 คน และลูกคู่ร้องรับอีกเกือบ 100 คน สตรีพวกนี้นุ่งขาวห่มขาว ถ้าเป็นสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับการยกเว้น ไม่ต้องโกนศีรษะอย่างคนอื่นๆที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต เพราะจะต้องมีบทสยายผมลงเช็ดพื้นแสดงการความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์
ประเพณีนางร้องไห้เชื่อว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ทราบว่าเป็นรัชสมัยใด และยังคงสืบสานวัฒนธรรมมาจนถึงรัตนโกสินทร์ มีปรากฏครั้งสุดท้ายในงาน พระบรมศพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
จนล่วงมาถึง รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่โปรดประเพณีนี้ ในพระราชพินัยกรรมของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
“ในเวลาตั้งพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในเวลาอื่น ๆ ต่อไปนี้ตลอด ห้ามมิให้มีการร้องไห้ ถ้าผู้ใดรักใคร่ข้าพเจ้า ปรารถนาจะร้องไห้ ก็ร้องไห้จริง ๆ เถิดอย่าร้องเล่นอย่างละครเลย” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเพณีนางร้องไห้สิ้นสุดลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อเสด็จสวรรคตจึงไม่มีนางร้องไห้มาทำหน้าที่นี้อีก
บทเพลง นางร้องไห้ มีอยู่ทั้งหมด 5 บท ดังนี้
1 พระร่มโพธิ์ทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
2 พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด ละข้าพระบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
3 พระยอดฟ้า พระสุเมรุทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
4 พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย
5 พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ถ่ายพร้อมท่านพ่อและหม่อมแม่ เมื่อมีอายุครบ ๓ รอบ
นางร้องไห้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่จดจำกันได้ต่อมา คือ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ บุตรีหม่อมเจ้าเพิ่มในพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดีพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ม.ร.ว.สดับ ถูกส่งตัวเข้ามาเป็นนางข้าหลวงในตำหนักสมเด็จพระวิมาดาเธอกรมพระสุธาสินีนาฏฯ พระธิดาในกรมหมื่นภูมินทรฯ เพื่อฝึกหัดวิชาสำหรับกุลสตรี
ปรากฏว่า เจ้าจอมม.ร.ว.สดับ มีพรสวรรค์ทางด้านเสียง ขับร้องเพลงได้กังวานหวานอย่างที่เรียกกันว่า มี “แก้วเสียงชั้นเอก” จึงได้เป็นนางขับร้องในวงมโหรีร้องถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งหนึ่งเมื่อทรงพระประชวรต้องพักผ่อนพระวรกายอยู่หลายวัน
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๖ เวลา ๐๖.๓๐ น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำอาบศพในเย็นวันเดียวกัน ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ความไพเราะในน้ำเสียง ม.ร.ว. สดับ เป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ถึงกับมีพระราชนิพนธ์พระราชทานว่า
แม่เสียงเพราะเอย
น้ำเสียงเจ้าเสนาะ
เหมือนหนึ่งใจพี่จะขาด
เจ้าร้องลำนำ ยิ่งซ้ำพิศวาส
พี่ไม่วายหมายมาด
รักแม่เสียงเพราะเอย
แล้วทรงขอจากสมเด็จพระวิมาดาฯ ให้ ม.ร.ว. สดับ เข้ารับราชการฝ่ายในเป็น เจ้าจอมรุ่นท้ายในรัชกาลที่ 5 และได้ชื่อว่าเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่ง เจ้าจอมสดับได้ทำหน้าที่ฉลองพระเดชพระคุณเป็นครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีพระบรมศพ พระองค์ทรงทำหน้าที่เป็น นางร้องไห้ ขณะเคลื่อนพระศพสมเด็จรัชกาลที่ 5 และเป็น นางร้องไห้องค์สุดท้ายในราชวงศ์จักรี
ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์