โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า สถาบันทรัพยากรโลกเผยผลศึกษาพบแนวโน้มอีก 15 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะเจอผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มขึ้น 3 เท่า
ผลการศึกษาของสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่วิจัยเพื่อสร้างความเท่าเทียมผ่านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พบว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือปี 2030 ประชากรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว
โดยปัจจุบัน ประชากรกว่า 21 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งปี 2030 จะเพิ่มเป็น 3 เท่าตัว หรืออยู่ที่ประมาณ 54 ล้านคน และคาดว่าจะส่งผลเสียหายด้านเศรษฐกิจตามมาไม่ต่ำกว่า 340,000 ล้านปอนด์
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งมโหฬารทั่วโลกมาจาก 2 ปัจจัยคือ
1. การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น เพราะที่อยู่อาศัยเหลือน้อยลง และ
2. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำเดิมได้รับน้ำมากขึ้น และเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งใหม่
อย่างไรก็ดี ประเทศที่อยู่ในข่ายเสี่ยงในด้านอัตราของประชากร ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ จีน ตามมาด้วยเวียดนามและปากีสถาน ส่วนประเทศที่เสี่ยงในด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ คือ บังกลาเทศ กัมพูชา อัฟกานิสถาน เวียดนาม และลาว