วิธีดูแลรักษาดวงตา

Woman eyes

ดวงตา เป็นอวัยวะที่บอบบาง ซับซ้อนละเอียดอ่อน และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น แสงอุลตร้าไวโอเลตจากแสงแดดจ้า การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการสูบบุหรี่ ล้วนกระตุ้นให้สายตามีโอกาสเสื่อมเร็วกว่าปกติ และเป็นสาเหตุของปัญหาสายตาตามมา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก เป็นต้น การใส่ใจดูแลสุขภาพสายตาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สายตาเสื่อมเร็วกว่าปกติ

  1. การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
  2. แสงอุลตร้าไวโอเลตจากแสงแดด
  3. ใช้สายตามากจากการเรียนและอ่านหนังสือ
  4. อายุที่เพิ่มขึ้น
  5. การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในบริเวณที่สูบบุหรี่
  6. ได้รับวิตามินสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ

วิธีการดูแลสุขภาพสายตา

  1. นั่งห่างจากจอคอมพิวเตอร์ในระยะเหมาะสม ประมาณ 1 ฟุต 10 ซม.
  2. อ่านหรือเขียนหนังสือโดยมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ
  3. พักสายตาบ้าง ไม่ควรใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
  4. หลีกเลี่ยงการมองของที่มีสีขาวหรือวัตถุสะท้อนแสงมาก ๆ กลางแดด
  5. ควรสวมแว่นกันแดด หรือสวมหมวกทุกครั้งเมื่อออกแดดจ้า
  6. ตรวจวัดสายตาหรือพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง
  7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสายตา เช่น ผักผลไม้หลากสี

วิธีการพักผ่อนสายตา

การใช้สายตาต่อเนื่อง เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาจทำให้สายตาเมื่อยล้าได้ ควรพักสายตา และบริหารดวงตาบ้างโดย

  1. การกระพริบตา : การกระพริบตา ช่วยให้น้ำตาหล่อเลี้ยงได้ทั่วตา ช่วยลดการระคายเคืองตาได้
  2. การใช้ฝ่ามือกดตาเบาๆ : ให้วางฝ่ามือบนเปลือกตาที่ปิดสนิท กดเบาๆ ประมาณ 1 นาทีแล้วปล่อย ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง จะรู้สึกสบายขึ้น
  3. การมองไกล : ให้มองไกลไปจากจอ คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 6 เมตร โดยมองไปยังต้นไม้ ใบหญ้าหรือวัตถุสีเขียว จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการปรับโฟกัสของเลนส์ตา
  4. การกลอกตาเป็นวงกลม : ให้มองไปรอบๆ กว้างๆ ตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ และทวนเข็มนาฬิกาอีก 3 รอบ จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการกรอกตาไปมา

สารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา

1. ลูทีน (Lutein) เป็นสารอาหารธรรมชาติกลุ่มแคโรทีนอยด์ พบมากในตาบริเวณจุดรับภาพ และจอประสาทตา ทำหน้าที่ป้องกันรังสีจากแสงแดด ช่วยกรองแสงสีน้ำเงินที่จะทำลายดวงตา และช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาโดยการลดอนุมูลอิสระที่ทำลายดวงตา ร่างกายจำเป็นต้องได้รับลูทีนจากอาหาร โดยเฉพาะจากพืชผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม ผักกาด ปวยเล้ง เป็นต้น และพบว่าการรับประทานลูทีนวันละ 6 มิลลิกรัม ช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ถึงร้อยละ 50

2. บิลเบอร์รี่สกัด (Bilberry extract) เป็นสารอาหารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันเลนส์ตา และสร้างความแข็งแรงให้กับคอลลาเจนซึ่งเป็นโครงสร้างของคอร์เนีย (Cornea) และเส้นเลือดฝอยในตา ทำให้เส้นเลือดฝอยไม่เปราะแตกง่าย และป้องกันไม่ให้เซลล์ดวงตาขุ่นมัว อันเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจก นอกจากนั้นยังช่วยการมองเห็นในที่มืด หรือที่ที่มีแสงสลัว ๆ ให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

3. เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) เป็นสารอาหารธรรมชาติที่พบมากในแครอท ฟักทอง ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยการมองเห็นในที่มืด ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงดวงตา และป้องกันโรคตาหลายชนิด เช่น ต้อกระจก รวมถึงช่วยให้ผิวเยื่อเมือกในตาชุ่มชื่นขึ้นอีกด้วย 

Credit : http://www.goodhealthyproduct.com/http://www.posttoday.com/

เรื่องน่าสนใจ