สบส. เร่งตรวจสอบความเชื่อมโยง ดร.เซปิง กับสถานพยาบาลเสริมความงาม เตรียมจับมือ สคบ. แพทยสภา ปราบปรามโฆษณาทางโซเซียลมีเดีย ถือเป็นภัยเสพติดผู้บริโภครุนแรง
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยความคืบหน้าผลการสอบข้อเท็จจริง กรณี ดร.เซปิงแจงการโมหน้านักร้องชื่อดัง สุรชัย สมบัติเจริญ พบทำในสถานพยาบาลที่ถูกกฎหมาย และหมอเฉพาะทางที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาจริง เร่งตรวจสอบความเชื่อมโยงกับสถานพยาบาลกับดร.เซปิงฯ แต่ประเด็นการโฆษณาเฟซออฟ อาจเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการด้านการแพทย์ปรากฏ พร้อมทั้งเตรียมวางมาตรการป้องกันการโฆษณาทางโซเซียลมีเดีย ร่วมกับสคบ. แพทยสภา เพราะถือเป็นภัยสร้างการเสพติดประชาชนที่ส่อความรุนแรงขึ้น
บ่ายวันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีดร.เซปิง ไชยสาส์น แจงการทำศัลยกรรมความงามหน้าของนักร้องชื่อดัง สุรชัย สมบัติเจริญ ในโครงการเฟซออฟ โดยดร.เซปิงว่า กรมสบส.ได้ส่งทีมกฎหมายลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ โดยดำเนินการ 2 ส่วน คือการดำเนินการด้านการแนะนำการเสริมความงามของดร.เซปิงฯและทีมงาน และตรวจสอบโรงพยาบาลเสริมความงามที่ทำการผ่าตัดให้นายสุรชัย สมบัติเจริญ ทั้งเรื่องมาตรฐานบริการและแพทย์ที่ทำการผ่าตัดครั้งนี้ด้วย
ผลการตรวจสอบเบื้องต้น ในส่วนของโรงพยาบาลที่ทำผ่าตัดคือโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการเสริมความงาม ขนาด 30 เตียง ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายคือพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 มีนางศิริเพ็ญ พันธุ์ศรีทุม เป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และมีนายแพทย์มนัส เสถียรโชค เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และมีนายแพทย์กมลฯ เป็นแพทย์เฉพาะทางที่ดำเนินการทำศัลยกรรมตกแต่ง
ซึ่งโดยทั่วไปการทำศัลยกรรมตกแต่งมีอยู่แล้ว มีทั้งการทำเฉพาะจุด ดึงหน้า แต่ไม่มีการใช้คำว่าเฟซออฟ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไม่มีหลักฐานทางวิชาการใหม่ กรณีการทำผ่าตัดศัลยกรรมของนายสุรชัยครั้งนี้ จึงเป็นการทำการศัลยกรรมความงามทั่วไป ไม่ใช่เป็นวิธีใหม่ ซึ่งจะต้องเร่งตรวจสอบหลักฐานการเชื่อมโยง หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย รู้เห็นเป็นใจกับการโฆษณาของดร.เซปิงฯ ต่อไป หากพบว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงกัน จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล มีโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตั้งแต่วันที่กระทำผิดจนกว่าจะระงับการโฆษณา
ทั้งนี้ ในบ่ายวันนี้จะนำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยมที่สถานพยาบาลแห่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นการตรวจเยี่ยมตามปกติและตามเกณฑ์มาตรฐานสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541ไม่ใช่เป็นการตรวจเพื่อจับผิดแต่อย่างใด สำหรับในส่วนดร.เซปิง ทราบจากแพทยสภาว่าไม่ใช่แพทย์ แต่มีข้อสังเกตในเรื่องของการโฆษณาเรื่องของการทำเฟซออฟ ซึ่งจัดเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินจริง ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งและวงการสภาวิชาชีพและมีการนำข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในโซเซียลมีเดีย กรมสบส.จะส่งข้อมูลให้สคบ.ดำเนินการในเรื่องนี้ตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
“ ขณะนี้ต้องยอมรับว่าการโฆษณาทางโซเซียลมีเดีย ถือเป็นภัยสร้างการเสพติดที่มีความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริโภคในยุคสังคมดิจิตอล กรมสบส.จะเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามผู้ที่ฝ่าฝืน โดยจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสคบ.และแพทยสภา ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือกันในเร็วๆนี้” นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าว
ทางด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีสถานความงามขึ้นทะเบียนทั้งหมด 1,458 แห่ง โดยทั้งหมดนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541 ห้ามโฆษณาอวดอ้างและชักชวนให้มีผู้บริโภคไปใช้ที่สถานพยาบาล เช่นอ้างว่ามีสรรพคุณการรักษาดีที่สุดเป็นเลิศ หรือใช้เครื่องมือที่ดีที่สุดในโลก เป็นต้น