ที่มา: matichon

เรียบเรียงโดย โดดเด่นดอทคอม

ภาพจาก มติชน

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการนำเสนอเรื่อง การตรวจคุณภาพเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้สำรวจคุณภาพเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากหน่วยงานรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 12,641 ตัวอย่าง

8z

โดยนำเครื่องมาสอบเทียบกับก๊าซมาตรฐาน ความเข้มข้น พบว่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 5,522 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 44 ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานต้องปรับค่าใหม่ จำนวน 6,315 ตัวอย่าง

 คิดเป็นร้อยละ 50 และชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ 804 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 6 โดยเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ มีตัวจับเป็นแบบเซลล์ไฟฟ้าเคมี เมื่อใช้งานแล้วจำเป็นต้องมีการนำมาสอบเทียบใหม่ตามระยะเวลาที่กำหนด

นพ.อภิชัยกล่าวว่า ตามปกติเครื่องมือเหล่านี้จะต้องนำมาสอบเทียบทุก 6 เดือน เพื่อให้การใช้งานได้มาตรฐาน

เพราะเป็นเครื่องมือที่ต้องมีความแม่นยำ เพื่อไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยการตรวจวัดในปีงบประมาณ 2557 ที่มีเครื่องมือไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 50 นั้น ไม่ได้หมายความว่าเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้อยู่ไม่สามารถใช้ได้

เพราะเครื่องที่นำมาตรวจสอบนั้น มีทั้งเครื่องที่ครบรอบกำหนดสอบเทียบและยังไม่ครบกำหนด โดยในการใช้เครื่องมือดังกล่าวนั้น จะมีการสอบเทียบเครื่อง และปรับให้ได้มาตรฐานทุก 6 เดือน เมื่อเครื่องได้รับการปรับแล้วก็จะออกสติ๊กเกอร์ระบุวันที่สอบเทียบและวันที่ต้องนำมาสอบ เทียบไว้ เมื่อเลยกำหนดวันเจ้าหน้าที่จะไม่นำเครื่องออกมาใช้

นพ.อภิชัยกล่าวว่า เครื่องวัดแอลกอฮอล์นั้น เมื่อใช้งานไปเป็นระยะเวลานานหัววัดของเครื่องจะเสื่อมสภาพลง

ดังนั้น เครื่องวัดทุกเครื่องต้องได้รับการสอบเทียบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจในความถูกต้องแม่นยำของตัวเลขที่จะบ่งชี้ว่าผู้ขับขี่นั้นกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

 ทั้งนี้ การตั้งเครื่องนั้นจะกระทำด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้มาตรฐาน ซึ่งการนำเครื่องมาตรวจวัดและการวิเคราะห์ที่พบว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานนั้น

ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่า การปรับเทียบเครื่องนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ไม่กระทบต่อประชาชน ซึ่งเครื่องที่มีการปรับแล้วจะมีสติ๊กเกอร์เครื่องหมายบ่งบอกอยู่อย่างชัดเจน

เรื่องน่าสนใจ