นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังโรคเมอร์ส-โควี หรือโคโรนา ไวรัสสายพันธุ์ 2012 ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินลมหายใจที่มีอันตรายใกล้เคียงกับโรคซาร์ส มีพื้นที่ระบาดอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง และบางประเทศในยุโรป แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยก็ตาม แต่มีความเสี่ยงอาจพบผู้ติดเชื้อได้จากการเดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศตะวันออกกลาง

557000011059804

โดยได้จัดระบบการเฝ้าระวัง 2 ระดับ ได้แก่ 1. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งในและนอกสังกัด โรงพยาบาลเอกชน เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคนี้ ควบคู่กับโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันควบคุมการติดเชื้อเป็นกรณีพิเศษในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับการป้องกันโรคซาร์ส โดยได้จัดทำคู่มือแนวทางการดูแลรักษาการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล แจกให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว 2. จัดระบบการเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. และเพิ่ม อสม.ฮัจญ์ เพื่อติดตามอาการป่วยชาวไทยมุสลิม ที่เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลางหลังเดินทางไปแสวงบุญ เป็นเวลา 14 วัน หากพบผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ให้แจ้งสำนักระบาดวิทยาทันที เพื่อเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคตามมาตรฐานที่กำหนด

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2557 ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control) รายงานพบผู้ป่วยยืนยัน 815 ราย เสียชีวิต 313 ราย ใน 21 ประเทศ

เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ เยเมน เป็นต้น สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยัน แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ซึ่งในปี 2557 นี้ มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญ จำนวน 10,340 คน กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาล นักระบาดวิทยา และบุคลากรอื่นๆ เดินทางไปให้การดูแลรักษาที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยตั้งหน่วยพยาบาล อยู่ที่เมืองเมกกะ และหน่วยมาดีนะห์ ให้บริการดูแลรักษาพยาบาลจนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธี

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า รายงานผลการให้บริการ มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 100 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 1-2 ราย รวมสถิติผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่หน่วยพยาบาล ทั้ง 2 หน่วย ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค – 19 ก.ย. 2557 ผู้ป่วยนอก 2,440 ราย ส่วนใหญ่เพศชาย ผู้ป่วยใน จำนวน 28 ราย ส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลประเทศซาอูดิอาระเบีย 18 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัวกำเริบ เช่น โรคหัวใจ ไม่มีผู้เสียชีวิตการเจ็บป่วยที่มารับการรักษา ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.56 เป็นไข้หวัด และคออักเสบ

รองลงมาคือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และโรคกระเพาะอาหารโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 เริ่มพบในคนครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 การแพร่ระบาดของโรคส่วนใหญ่อยู่ในประเทศในแถบตะวันออกกลาง มักพบในกลุ่มผู้เดินทางไปแสวงบุญ ผู้สัมผัสอูฐ หรือดื่มนมอูฐ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน และยารักษาโดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์ และประเมินความเสี่ยงของโรคนี้อย่างใกล้ชิด และขอแนะนำประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ให้เคร่งครัด การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย เป็นต้น ขอให้หลีกเลี่ยงการเที่ยวชมฟาร์ม พื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร และตลาดที่มีอูฐอยู่ หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำนมดิบจากอูฐ ที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้งการกินอาหารที่ไม่สะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการล้าง ปอกเปลือก หรือปรุงให้สุก เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ ควรล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด หากจำเป็นควรใส่หน้ากากป้องกันโรค หากมีอาการคล้ายไข้หวัดให้รีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้ภายหลังเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ภายใน 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ขอให้ไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ที่มา : manager

เรื่องน่าสนใจ