โรคนอนไม่หลับ ปัญหาที่รบกวนคุณภาพชีวิต รักษาได้อย่างไร? การนอนหลับอย่างเพียงพอ และมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่จําเป็นและมีความสําคัญต่อทุกชีวิตทั้งในมนุษย์และสัตว์ เพราะการนอนหลับที่ดี จะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพกายและใจควบคู่กันไป
คุณภาพการนอนหลับที่ดี ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ เพราะจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่มีผลการวิจัยพบว่า จํานวนชั่วโมงที่ดีที่สุดของการนอนหลับที่ดีที่จะส่งผลต่อสุขภาพที่ดี และช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ จะอยู่ที่ประมาณ 7-8 ชั่วโมง โดยหากมีการตื่นระหว่างการนอน 1 – 2 ครั้งแล้ว ใช้เวลาไม่นาน สามารถกลับไปนอนต่อได้ ก็ยังถือว่าเป็นสภาวะที่ปกติ
ส่วนปัญหาการนอนที่ผิดปกติที่พบว่าเป็นกันมาก คือ ปัญหาของการนอนไม่หลับหรือโรคนอนไม่หลับ ซึ่งนอกจากจะทําให้สภาพร่างกายย่ำแย่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการทํางาน หรือการใช้ชีวิตในประจําวันได้อีกด้วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ พบว่ามีปัญหาการนอนไม่หลับมากกว่าวัยอื่นๆ
โรคนอนไม่หลับ อาจมีลักษณะอาการได้หลายๆ แบบ เช่น หลับยากตอนต้น โดยใช้เวลามากกว่า 30 นาทียังไม่หลับ ตื่นบ่อยแล้วหลับยาก หรือตื่นเช้ากว่าปกติ ร่วมกับมีอาการตื่นแล้วไม่สดชื่น ง่วงเมื่อเวลาทํางาน โรคนอนไม่หลับอาจจะเป็นชั่วคราว เมื่อภาวะกระตุ้นหายไป ก็จะกลับเป็นปกติ แต่หากมีอาการเกิน 3 เดือนให้ถือว่าเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุหลักๆ ของโรคนอนไม่หลับ พบว่ามีอยู่ 3 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
เกิดจากความเกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช
เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อการนอนไม่หลับได้
เกิดจากมีโรคประจําตัวที่กระตุ้นให้เกิดการนอนไม่หลับ
เช่น อาการปวดเรื้อรัง, โรคหืดที่ควบคุมไม่ดี, โรคจมูกอักเสบ จากภูมิแพ้ที่ควบคุมไม่ดี เป็นต้น
เกิดจากสุขภาพการนอนที่ไม่ดี
เช่น มีการทํากิจกรรมบนเตียง ทั้งการดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือใกล้เวลานอน ซึ่งแสงจากอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เหล่านี้ จะไปรบกวนการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับเรียกว่า เมลาโทนิน (Melatonin) จึงทําให้นอนหลับยากขึ้น
ส่วนใหญ่แล้วการรักษา แพทย์จะหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อประเมินและวินิจฉัยว่า โรคนอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุใด มีอาการใดร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ภาวะขากระตุกขณะหลับ หรือภาวะทางจิตเวชที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทําให้เกิดการนอนไม่หลับขึ้นได้ จากนั้น จึงไปแก้ไขที่ต้นเหตุเพื่อให้การรักษา โดยทั่วไป โรคนอนไม่หลับสามารถรักษาได้ทั้งแบบการรักษา โดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา จะเริ่มด้วยการไม่ใช้ยาด้วยวิธีการปรับพฤติกรรม ส่วนการใช้ยานอนหลับนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
การปรับพฤติกรรม ประกอบไปด้วยการเข้านอน – และ ตื่นนอนในเวลาเดียวกันเป็นประจําทุกวัน หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นตื่น หรือก่อให้เกิดความวิตกกังวลในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนนอน เช่น การดูหนังที่ตื่นเต้น การคิดถึงเรื่องงาน การแพลนงานในวันรุ่งขึ้น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ใกล้เวลานอน เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ทําให้นอนหลับได้ยาก โดยผู้ที่มีโรคนอนไม่หลับ แนะนําว่าไม่ควรดื่มกาแฟหลังเวลาเที่ยงวัน การหลีกเลี่ยงการมีนาฬิกาในห้องนอน ห้องนอนควรมืด เงียบและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรทํากิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการนอนหรือกิจกรรมทางเพศบนเตียง เช่น การดูโทรทัศน์ ทานขนมบนเตียง เป็นต้น
……………………………………………………………….
หลังจากปรับพฤติกรรมแล้ว แต่หากยังมีอาการของโรคนอนไม่หลับ จนกระทบต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจแล้ว จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษา ก่อนที่การนอนไม่หลับจะทําลายสุขภาพได้
เนื้อหาโดย Dodeden.com