ที่มา: voicetv

กรมควบคุมโรค ยืนยัน ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคไข้ซิกาในไทย แต่ได้เตรียมแนวทางการป้องกันโรคไว้แล้ว เนื่องจากยังไม่มีวัคซีน และยารักษาโดยเฉพาะ

01

โรคไข้ซิกา เกิดจาการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค

ไวรัสซิกาถูกแยกเชื้อครั้งแรก ในปี 2490 จากน้ำเหลืองของลิง ที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าชื่อ ‘ซิกา’ ประเทศยูกันดา และแยกเชื้อได้จากคนในปี 2511 ที่ประเทศไนจีเรีย

ไวรัสซิกา มีระยะฟักตัว 4-7 วัน จากนั้นจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นบริเวณลำตัว แขนขา วิงเวียน เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อาจจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงต้องรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาการเจ็บป่วยของคนไข้ พร้อมแนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวัน ตรวจพบชายไทยมีเชื้อไวรัสซิกา ที่กำลังระบาดในหลายประเทศแถบลาตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน ทำให้กรมควบคุมโรคของไทย เร่งประชุมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังโรค และเตรียมออกประกาศให้ประชาชนรับรู้

พร้อมเน้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรค เช่น การเก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เก็บขยะ เศษภาชนะที่รองน้ำได้ รอบๆ บ้าน และปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่

เรื่องน่าสนใจ