ที่มา: tnnthailand

กรมควบคุมโรค ส่ง จนท.เก็บตัวอย่างยุงพท.ตะวันออกเฉียงเหนือตรวจหาเชื้อไวรัสซิกา แนะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือหญิงตั้งครรภ์

01

วันนี้(22 ม.ค.59) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวันตรวจพบชายไทยที่เดินทางเข้าประเทศไต้หวันมีเชื้อไวรัสซิกาที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ในแถบลาตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียนว่า ขณะนี้ผู้ป่วยคนดังกล่าวมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่ยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยกรมควบคุมโรคในประเทศไทยได้ประสานงานไปยังกรมควบคุมโรคประเทศไต้หวัน เพื่อเฝ้าดูอาการชายคนดังกล่าว

นอกจากนี้กรมควบคุมโรค ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างยุงบริเวณบ้านของผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาเชื้อต่อไป โดยไวรัสซิกามีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์และไวรัสไข้สมองอักเสบเอจี ที่มียุงลาย มีเชื้อไวรัสซิกาเป็นพาหะนำโรค ลักษณะอาการจะคล้ายกับไข้เลือดออกที่มีระยะฟักตัว 4-7 วัน ก่อนจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะแบบรุนแรงมีผื่นบริเวณลำตัว แขนขา ตาแดงและปวดข้อ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตและอุจจาระร่วง โดยพบว่ายังไม่มีผู้เสียชีวิต

ขณะที่นพ. นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค อธิบายว่า โรคไข้ซิกาพบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี2555 มีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละไม่ถึง 10 ราย โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง คือ หญิงตั้งครรภ์ที่อาจจะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีสมองเล็ก หรือ มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ จึงทำได้เพียงการรักษาตามอาการ

เบื้องต้นกรมควบคุมโรคได้จัดทำประกาศเรื่องโรคไข้ซิกา เพื่อให้ประชาชนตระหนักในมาตรการป้องกันโรคและช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเน้นใช้หลัก 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่ง เก็บขยะ เศษภาชนะที่มีน้ำขังรอบบ้าน และเก็บน้ำด้วยการปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประชาชนยังจะต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งป้องกันเช่นเดียวกับไข้เลือดออกหากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือป่วย แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้เดินทางไปประเทศในพื้นที่การระบาด จะต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง

ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดหากพบว่ามีไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อให้รีบพบแพทย์ ที่คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

เรื่องน่าสนใจ