ที่มา: Matichon Online

เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 28 พฤสจิกายน ที่ โรงแรมเดอะ สุโกศล นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วย ดร. เสรี นนทสูติ และ มีส แซนดร้า เดอ วอล์ (Ms. Sandra De Waele) หัวหน้าฝ่ายการเมือง สื่อและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….. ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดประชุมสมาคม ILGA (International lesbian, gay, bisexual, trans and intersex association) ระดับโลก ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาการและความก้าวหน้าเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

depositphotos_13155709_m-2015

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การรระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ ได้ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยจัดกิจกรรมในวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” และล่าสุดได้ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences: AFRIMS) จัดการประชุมสมาคม ILGA (International lesbian, gay, bisexual, trans and intersex association) ระดับโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 ที่ โรงแรมสุโกศล ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลก จำนวนประมาณ 500 คน และในวันนี้ได้มีกิจกรรม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ…..

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า ซึ่งร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ คือ การให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ บุคคลที่มีวิถีทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เสมือนคู่ชีวิตหญิงชายทั่วไป และมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการรับมรดก สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล ฯลฯ ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ผ่านการประชาพิจารณ์จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 5 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค และครั้งสุดท้ายที่รัฐสภา ปรากฏว่าในภาพรวมมีผู้เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 78.65 ไม่เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 10.93 และไม่แสดงความคิดเห็นคิดเป็นร้อยละ 10.42

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้นำร่างพระราชบัญญัติการจดทะบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. มาทบทวนให้มีความสมบูรณ์ และครอบคลุมสิทธิต่างๆ ที่คู่ชีวิตควรจะได้รับมากยิ่งขึ้น เช่น สิทธิหน้าที่ของคู่สมรส การอุปการะเลี้ยงดู สิทธิในทรัพย์สิน ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต การสิ้นสุดของการเป็นคู่ชีวิต เป็นต้น และต่อมาได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. … ขึ้นซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 42 คน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน โดยที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวร่วมกัน รวมทั้งได้มีการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางต่อการปรับปรุง จากนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุง ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 หมวด 63 มาตรา ดังนี้ หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 5-13) หมวด 2 ความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต (มาตรา 14-17) หมวด 3 ทรัพย์สินและมรดกของคู่ชีวิต (มาตรา 18-49) หมวด 4 ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 50-56) หมวด 5 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 57-67) และปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงยุติธรรม

เรื่องน่าสนใจ